Abstract:
กะปิ เป็นอาหารหมักพื้นเมืองที่ใช้ปรุงแต่งอาหารให้เกิดรสชาติ ส่วนประกอบหลักที่ใช้ในการทำกะปิคือ กุ้งเคยกับเกลือ ซึ่งชนิดของกุ้งเคยที่นิยมนำมาทำกะปิ แบ่งออกเป็น 2 สกุล ได้แก่ สกุลอะซิเตสและสกุลมีโซโพดอพซิส งานวิจัยนี้ได้สนใจทำการจำแนกชนิดของกุ้งเคยในกะปิทั้งหมด 8 ตัวอย่าง จาก 3 แหล่ง คือ กะปิคลองโคน (จังหวัดสมุทรสงคราม) และกะปิชลบุรี (จังหวัดชลบุรี) และกะปิเทพา (จังหวัดสงขลา) โดยใช้เทคนิคดีเอ็นเอบาร์โค้ดและใช้ยีน cytochrome c oxidase subunit I (COI) ในการระบุชนิดกุ้งเคย เนื่องจากยีน COI มีความแตกต่างมากเพียงพอที่จะสามารถระบุชนิดของสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันและต่างชนิดกันออกจากกันได้ รวมถึงได้ทำการวิเคราะห์ปริมาณโปรตีนไขมันทั้งหมด โซเดียมคลอไรด์และโอเมก้า 3 ในกะปิด้วยวิธีมาตรฐาน AOAC จากผลการวิเคราะห์พบว่า กะปิคลองโคน (KK3) มีปริมาณโปรตีนและปริมาณไขมันทั้งหมดสูงที่สุด มีค่าเท่ากับร้อยละ 29.76 และ 3.17 ตามลำดับ กะปิเทพา (TP1) มีปริมาณโซเดียมสูงที่สุดเท่ากับร้อยละ 33.38 และกะปิชลบุรี (SR3) มีปริมาณโอเมก้า 3 สูงที่สุดเท่ากับร้อยละ 0.86 เมื่อวิเคราะห์ลำดับนิวคลีโอไทด์แล้วพบว่า กุ้งเคยในกะปิ KK3, TP1 และ SR3 คือ Acetes japonicas จากการทดลองอาจสรุปได้ว่า เทคนิคดีเอ็นเอบาร์โค้ดมีความเหมาะสมที่จะใช้ในการระบุชนิดของกุ้งเคยอย่างรวดเร็วในผลิตภัณฑ์กะปิ และพบว่ากะปิต่างชนิดที่มี Acetes japonicas เป็ส่วนประกอบ จะให้คุณค่าทางโภชนาการในปริมาณที่ต่างกัน ซึ่งอาจเป็นผลจากปริมาณกุ้งเคยและกระบวนการในการทำกะปิที่แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น