Abstract:
งานศึกษาวิจัยชิ้นนี้มุ่งศึกษาเรื่อง ทุนทางสังคมของชุมชนเมืองในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ โดยได้ทำการศึกษาผ่านโครงการเพื่อการลงทุน ทางสังคม ในด้านการส่งเสริมการจัดสวัสดิการชุมชน เนื่องจากกลุ่มคนจนเมืองเหล่านี้มักเป็นกลุ่มผู้ด้อยโอกาศและหลุดลอดตาข่ายสวัสดิการภาครัฐเสมอมา โดยกำหนดวัตถุประสงค์ในการศึกษาดังนี้ 1.เพื่อศึกษาทุนทางสังคมในมิติของความสัมพันธ์ของสมาชิก ในชุมชนแออัดการผูกโยงกันด้วยความสัมพันธ์และพื้นฐานความสัมพันธ์ที่เอื้อต่อการทำกิจกรรมร่วมกัน 2. เพื่อศึกษากระบวนการทำงานในรูปองค์กรชุมชนและเครือข่ายชุมชนภายใต้กิจกรรมการลงทุนเพื่อสังคมว่านำไปสู่การเพิ่มทุนทางสังคม 3. เพื่อศึกษาลักษณะของทุนทางสังคมนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชน ในการศึกษาได้ใช้แนวคิด 3 แนวคิด คือ 1. แนวคิดเรื่องทุนทางสังคม 2. แนวคิดเรื่องชุมชนเข้มแข็งและ 3. แนวคิดเรื่องเครือข่ายสังคม โดยเลือกศึกษากรณีเครือข่ายกลุ่ม ออมทรัพย์บางซื่อพัฒนา ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มออมทรัพย์จำนวน 14 กลุ่ม จากนั้น เลือกศึกษาเจาะลึกเพียง 1 ชุมชน คือ ชุมชนพระรามหก ผลการศึกษา พบว่า การมีเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคม ที่สมาชิกมีความสัมพันธ์เชิงซ้อนต่อกันนั้นนับเป็นต้นทุนทางสังคมที่สำคัญของชาวชุมชนเมือง โดยผ่านการตอบแทนและการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ตลอดทั้งกระบวนการเกื้อกูลกันและกัน ด้วยความสัมพันธ์เช่นนี้ทำให้พวกเขามีชีวิตอยู่รอดได้ในสภาวะที่ฝืดเคือง นอกจากนี้การมีค่านิยมร่วมกันในเรื่องการมีเครดิตที่ดีหรือการเป็นผู้นำเชื่อถือนั้น มีส่วนอย่างสำคัญในการเกื้อหนุนกองทุนสวัสดิการในชุมชน สำหรับการศึกษากระบวนการทำงานระดับองค์กรเครือข่าย พบว่า วิธีการดังกล่าวไม่ได้ทำให้เกิด เฉพาะผลด้านบวกในความหมายของการเพิ่มทุนทางสังคม หรือทำให้ชาวบ้านมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นขึ้นเท่านั้น หากแต่การเกิดกระบวนการเรียนรู้จากการทำงานร่วมกันอาจเกิดผลด้านลบต่อองค์กรหรือต่อความสัมพันธ์ของสมาชิกได้เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งกลุ่มพวกพ้อง หรือความหวาดระแวงระหว่างสมาชิก ซึ่งลักษณะดังกล่าวถือเป็นข้อจำกัดในการพัฒนากลุ่มที่จะต้องให้ความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากมีผลอย่างสำคัญในการพัฒนาองค์กรชาวบ้านให้เติบโตและเข้มแข็งต่อไป