Abstract:
ได้พิสูจน์ทราบเอกลักษณ์ของสารระเหยง่ายในพริกแกงเหลืองและส่วนประกอบย่อยของพริกแกงเหลือง โดยประยุกต์ใช้เทคนิคเทคนิคเฮดสเปซโซลิดเฟส ไมโครเอกซ์แทรกชัน (HS-SPME) ร่วมกับแก๊สโครมาโทกราฟี-แมสสเปกโทรเมตรี (GC-MS) ซึ่งใช้คอลัมน์คะปิลารีประเภท HP-5MS (30m × 0.25mm × 0.25 μm) พบว่าสภาวะที่เหมาะสมในการเตรียมตัวอย่างด้วย HS-SPME คือ สกัดที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส ใช้เวลาในการสกัด 60 นาที จากนั้นสารที่ถูกสกัดมาได้จะถูกปลดปล่อยในส่วนฉีดสารที่อุณหภูมิ 250 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 5 นาที โปรแกรมอุณหภูมิเตาอบของเครื่อง GC คือเริ่มต้นที่ 50 องศาเซลเซียส ถึง 200 องศาเซลเซียส ที่อัตรา 3 องศาเซลเซียสต่อนาที จากนั้นเพิ่มอุณหภูมิจนถึง 250 องศาเซสเซียส ที่อัตรา 50 องศาเซสเซียสต่อนาที และคงที่อุณหภูมิสุดท้ายไว้ 2 นาที ซึ่งระบุเอกลักษณ์ของสารระเหยง่ายสำคัญได้ 131 สาร ได้แก่แอลกอฮอล์ แอลดีไฮด์ คีโตน เอสเทอร์ อีเทอร์ สารประกอบซัลเฟอร์ และไฮโดรคาร์บอน จากการเปรียบเทียบกับแมสสเปกตรัมและยืนยันด้วยค่า linear retention index (LRI) ของสารกับฐานข้อมูล NIST17 ซึ่งสารระเหยง่ายหลักของแกงเหลืองมาจากกระเทียมและขมิ้น จากการจัดกลุ่มข้อมูลโดยใช้วิธีวิเคราะห์องค์ประกอบหลัก (PCA) สามารถจำแนกกลุ่มของพริกแกงเหลืองที่ศึกษาได้เป็น 3 กลุ่มซึ่งกระจายตัวในบริเวณที่แตกต่างกันของ PCA พล็อต ดังนั้นจึงบ่งชี้ได้ว่าสามารถใช้วิธี HS-SPME-GC-MS ร่วมกับเคโมเมทริกซ์ในการ ระบุสารระเหยง่าย และพิสูจน์เปรียบเทียบพริกแกงเหลืองจากต่างแหล่งที่มาได้