Abstract:
ลักษณะทางสัณฐานวิทยาของรากเอ็กโทไมคอร์ไรซานับเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการจำแนกกลุ่มราเอ็กโทไมคอร์ไรซา โครงงานวิจัยนี้จึงวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยาและการพัฒนาของรากเอ็กโทไมคอร์ไรซาเห็ดเผาะหนัง (Astraeus odoratus) เห็ดน้ำหมาก (Russula sanguinaria) และเห็ดระโงกเหลือง (Amanita javanica) ในกล้าไม้ตะเคียนทอง (Hopea odorata) พะยอม (Shorea roxburghii) และยางนา (Dipterocarpus alatus) จากการเติมหัวเชื้อราเอ็กโทไมคอร์ไร-ซาเห็ดเผาะหนัง เห็ดน้ำหมาก และเห็ดระโงกเหลืองให้กับกล้าไม้ พบว่าเห็ดเผาะหนังสามารถสร้างเอ็กโท-ไมคอร์ไรซากับรากกล้าไม้ทดสอบทั้ง 3 ชนิด ภายในเวลา 2 เดือน โดยพบรูปแบบของรากเอ็กโทไมคอร์ไร-ซาแบบ irregular, unbranched และ dichotomous ในกล้าไม้ยางนา รูปแบบ monopodial pinnate และ irregular ในกล้าไม้พะยอม และรูปแบบ monopodial pinnate และ unbranched ในกล้าไม้ตะเคียนทอง สำหรับต้นกล้าไม้ที่ใส่หัวเชื้อเห็ดน้ำหมากพบการสร้างเอ็กโทไมคอร์ไรซากับรากกล้าไม้ยางนาเท่านั้น โดยมีรูปแบบของรากเป็นแบบ unbranched และไม่พบการสร้างรากเอ็กโทไมคอร์ไรซาในต้นกล้าไม่ที่ใส่หัวเชื้อเห็ดระโงกเหลือง จากการตรวจสอบชนิดของรากเอ็กไทไมคอร์ไรซาที่ได้ด้วยการวิเคราะห์ลำดับนิวคลีโอ-ไทด์ที่ตำแหน่ง ITS พบว่ารากเอ็กโทไมคอร์ไรซาที่ได้เป็นของเห็ดเผาะหนัง แต่รากเอ็กโทไมคอร์ไรซาที่ได้จากการใส่หัวเชื้อเห็ดน้ำหมากนั้นเป็นรากเอ็กโทไมคอร์ไรซาของราเอ็กโทไมคอร์ไรซาสกุล Tomentella และไม่พบการสร้างเอ็กโทไมคอร์ไรซาในรากต้นกล้าไม่ทุกชนิดในชุดการทดลองควบคุม