Abstract:
แย้ผีเสื้อ Leiolepis belliana เป็นสัตว์เลื้อยคลานจำพวกกิ้งก่า ที่มีความสำคัญในระบบนิเวศ ปัจจุบันแย้ผีเสื้อมีจำนวนลดลงในธรรมชาติเนื่องจากแหล่งที่อยู่อาศัยถูกทำลาย และถูกล่าโดยมนุษย์เพื่อนำมาบริโภค จึงจำเป็นต้องมีการอนุรักษ์เพื่อเพิ่มจำนวนในธรรมชาติ อย่างไรก็ตามข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยทางนิเวศวิทยาที่ส่งผลกระทบต่อแย้ผีเสื้อยังมีไม่เพียงพอ การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยทางนิเวศวิทยาที่ส่งผลต่อการเลือกบริเวณขุดรูของแย้ผีเสื้อ L. belliana บนเกาะแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ในแปลงศึกษาขนาด 7 เมตร x 10 เมตร บริเวณ 3 พื้นที่บนเกาะแสมสาร ได้แก่ หาดลูกลม หาดเทียน และหาดหน้าบ้าน ทำการสำรวจและบันทึกจำนวนรูของแย้ผีเสื้อทุก ๆ 2 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 ทำการเก็บข้อมูลปัจจัยทางกายภาพและชีวภาพ ได้แก่ เปอร์เซ็นต์ การปกคลุมของหญ้า ความสูงของหญ้า ค่า pH ของดิน ลักษณะของเนื้อดิน ความชื้นในดิน อุณหภูมิอากาศ ความชื้นสัมพัทธ์ รวมถึงอันดับและปริมาณอาหารของแย้ผีเสื้อ จากการวิเคราะห์ผลการศึกษาโดยใช้วิธี Kruskall-Wallis Test พบว่าค่าเฉลี่ยของจำนวนรูแย้ที่ใช้จริง ในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.005) โดยพบว่าที่หาดเทียน หาดหน้าบ้าน และหาดลูกลม มีค่าเฉลี่ยของจำนวนรูที่ใช้จริงเท่ากับ 2.4, 1.4 และ 1.2 รู (ต่อ 70 ตารางเมตร) ตามลำดับ จากการวิเคราะห์ข้อมูลปัจจัยทางกายภาพใน 3 พื้นที่พบว่า เปอร์เซ็นต์การปกคลุมของหญ้า ความสูงของหญ้า ความชื้นในดิน อุณหภูมิอากาศ และความชื้นสัมพัทธ์ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p ≤ 0.044) และเมื่อทำการวิเคราะห์สหสัมพันธ์ด้วยวิธี Spearman’s Rank Correlation พบความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิอากาศ (r = 0.25) ความชื้นสัมพัทธ์ (r = - 0.46) และปริมาณของแมลงหน้าดิน (r = - 0.32) กับจำนวนรูแย้ที่ใช้จริง จากการวิเคราะห์ค่า Shannon-Weiner Index ของแมลงใน 3 พื้นที่ศึกษาพบว่า หาดลูกลมมีความหลากหลายของแมลงสูงที่สุด (H’ = 1.02) ในขณะที่ผลของการวิเคราะห์ค่า Simpson’s Diversity Index พบว่าหาดหน้าบ้านมีค่าสูงที่สุด (C = 0.55) และมีแมลงอันดับที่เด่น คือ Orthoptera, Hymenoptera และ Coleoptera ซึ่งคาดว่าเป็น 3 อันดับที่แย้เลือกกินมากที่สุด ทั้งนี้ข้อมูลจากการศึกษาครั้งนี้สามารถนำมาใช้ในการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์แย้เพื่อการอนุรักษ์ได้