Abstract:
โครงงานนี้เป็นการคำนวณพลังงานแสงอาทิตย์ที่ตกลงบนแผงโซลาร์เซลล์ ณ ตำแหน่งที่สนใจ โดยใช้ ข้อมูลตัวแปรความเข้มแสงตรง (DNR) จากเว็บไซต์ www.power.larc.nasa.gov ซึ่งมีการเก็บข้อมูลจากดาวเทียมองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) ไว้มากกว่า 20 ปี แต่เนื่องจากข้อมูลของตัวแปร DNR เป็นค่าความเข้มแสงตรงที่ตกตั้งฉากตลอดเวลา จึงต้องทำการแปลงค่าความเข้มแสงตรงจากเว็บไซต์ของนาซาที่ได้ ให้สอดคล้องกับค่าพลังงานที่แผงโซลาร์เซลล์ได้รับในแต่ละวัน โดยคำนวณค่าความเข้มแสงตรงทางทฤษฎีในทุก ๆ ชั่วโมงของแต่ละวันเพื่อคำนวณพลังงานที่ได้ โดยมีขั้นตอนการทำงานคือ ผู้ใช้งาน ใส่พิกัด ภูมิศาสตร์คือค่าละติจูด และลองจิจูด ใส่มุมเอียงของแผงโซลาร์เซลล์ และใส่มุมที่ทิศของแผงโซลาร์เซลล์ทำกับทิศเหนือเข้าไปในโปรแกรมเพื่อคำนวณเป็นค่าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบบนแผงโซลาร์เซลล์ ณ ตำแหน่งที่สนใจ ผลการทดสอบการใช้งานโปรแกรมในกรณีศึกษาพบว่า จังหวัดอุบลราชธานี ที่มุมเอียงแผงโซลาร์เซลล์ 20 องศา จะทำให้แผงรับพลังงานแสงอาทิตย์สูงสุดอยู่ที่ 3.56 kW . ℎr/m²/day, เมืองออสโล ประเทศนอร์เวย์ ที่มุมเอียงแผงโซลาร์เซลล์ประมาณ 45-50 องศา จะทำให้แผงรับพลังงานแสงอาทิตย์สูงสุดอยู่ที่ 2.04 kW . ℎr/m²/day, เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ที่มุมเอียงของแผงโซลาร์เซลล์ 45 องศา จะทำให้แผงรับพลังงานแสงอาทิตย์สูงสุดอยู่ที่ 2.94 kW . ℎr/m²/day สำหรับพื้นที่ในประเทศไทยที่มีศักยภาพการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ โดยมีการกำหนดเงื่อนไขให้ทิศของแผงโซลาร์เซลล์หันไปทางทิศใต้ พบว่าบริเวณพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีศักยภาพสูงสุดในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ โดยที่มุมเอียงแผงโซลาร์เซลล์ 15 องศา จะทำให้แผงรับพลังงานแสงอาทิตย์สูงสุดอยู่ที่ 3.55 kW . ℎr/m²/day และในกรณีศึกษาต้องการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาสนามราชมังคลากีฬาสถาน โดยหันหน้าแผงไปทางทิศใต้ พบว่าที่มุมเอียงของแผงประมาณ 15 องศา จะทำให้แผงโซลาร์เซลล์รับพลังงานแสงอาทิตย์สูงสุดอยู่ที่ 3.41 kW . ℎr/m²/day.