Abstract:
บรรจุภัณฑ์อาหารเกษตรแปรรูปของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรในประเทศไทย ปัจจุบันประสบปัญหาที่รูปแบบไม่ตอบสนองวัตถุประสงค์ทางการตลาดซึ่งช่วยให้สินค้าขายได้ และขาดเอกลักษณ์ที่แสองภูมิปัญญาท้องถิ่น งานวิจัยจึงมุ่งเพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับแนวทางการใช้เรขศิลป์บนบรรจุภัณฑ์เพื่อแสดงภาพลักษณ์พื้นถิ่นของประเทศไทย และเพื่อตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ทางการตลาด โดยการวิเคราะห์กลุ่มตัวอย่างบรรจุภัณฑ์อาหารเกษตรแปรรูปของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร 24 ชิ้น และของผู้ผลิตระบบอุตสาหกรรม 29 ชิ้น โดยใช้ทฤษฎีองค์ประกอบศิลป์บนบรรจุภัณฑ์จำแนกองค์ประกอบออกเป็นภาพสี ตัวอักษร สัญลักษณ์ และการจัดวาง หลักเกษณ์ที่ใช้วิเคราะห์คือทฤษฎีคุณสมบัติเรขศิลป์บนบรรจุภัณฑ์เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์การตลาดได้จากผู้เชี่ยวชาญการออกแบบบรรจุภัณฑ์ชาวไทย 4 ท่าน และชาวต่างประเทศ 2 ท่าน หลักการออกแบบเรขศิลป์บนบรรจุภัณฑ์ เพื่อแสดงภาพลักษณ์พื้นถิ่นของประเทศไทย ได้จากการนำทฤษฎีของประเทศญี่ปุ่นที่ถือว่าประสบผลสำเร็จและเป็นที่ยอมรับระดับสากลด้านการแสดงภาพลักษณ์ถิ่นบนบรรจุภัณฑ์เป็นแนวทาง เทียบเคียงวิธีการให้เข้ากับเอกลักษณ์ด้านต่าง ๆ ของไทย ที่คาดว่าจะใช้เป็นที่มาของรูปแบบเรขศิลป์อันแสดงภาพลักษณ์พื้นถิ่นของประเทศไทยเช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่นทำมาแล้ว ทฤษฎีทั้ง 2 ได้รับการยืนยันโดยผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นอาจารย์สอนวิชาการออกแบบบรรจุภัณฑ์ใสถาบันอุดมศึกษาของไทย ผลการวิเคราะห์พบว่ามีการใช้องค์ประกอบศิลป์เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์การตลาดดังนี้ การบ่งประเภทของผลิตภัณฑ์ใช้ภาพและสีของสินค้าหรือวัตถุดิบ การบ่งชี้ผู้ผลิตหรือตราสินค้าใช้ตัวอักษรแสดงตราสินค้าและผู้ผลิต การแสดงบุคลิกของสินค้าใช้ภาพและสี การแสดงคุณประโยชน์ของสินค้าใช้ตัวอักษรแสดงคำโฆษณาชวนเชื่อ การดึงดูดความสนใจใช้สีสดตัดกันและภาพขนาดใหญ่ การส่งเสริมการโฆษณาใช้สัญลักษณ์ตรารับรองและเปรียญรางวัล การอำนวยความสะดวกใช้รหัสแท่งและตารางโภชนาการ การคงรักษาเอกลักษณ์ในเครือผู้ผลิตเดียวกันใช้การจัดวางเป็นชุดเดียวกัน ผลการวิเคราะห์การออกแบบเรขศิลป์บนบรรจุภัณฑ์กลุ่มตัวอย่างเพื่อแสดงภาพลักษณ์พื้นถิ่นของไทย พบวิธีที่ตรงกับหลักการเบื้องต้น ได้แก่ การใช้คู่สีและตัวอักษรแบบดั้งเดิม การจัดวางแบบสมมาตรและแบบซ้ำ วิธีที่ตรงกับหลักการแต่ไม่ปรากฏมีการใช้ได้แก่ การใช้ภาพเลียนกรรมวิธีการบรรจุแบบดั้งเดิม และเลียนพื้นผิวของวัสดุธรรมชาติ การใช้วัสดุธรรมชาติประกอบ และใช้สีแบบเบญจรงค์ รวมทั้งยังค้นพบวิธีการใหม่ของไทยเองได้แก่ การใช้ภาพลวดลายจิตรกรรมไทยภาพชาวบ้านแต่งกายชุดพื้นเมือง ภาพสถาปัตยกรรมในท้องถิ่น และการใช้ตัวอักษรร่วมสมัยที่แสดงความเป็นไทยและสอดคล้องกับองค์ประกอบอื่น ๆ