Abstract:
การทดลองภาคสนามครั้งนี้ต้องการศึกษาผลของการใช้ภาษาถิ่นของผู้ขอความช่วยเหลือ และการสูญเสียของการให้ความช่วยเหลือ ต่อพฤติกรรมการช่วยเหลือ ด้วยการทดลองขอความช่วยเหลือ 2 ประเภทคือ การขอให้ตอบแบบสำรวจ และการขอแลกธนบัตรห้าสิบบาทให้เป็นธนบัตรปลีกย่อย ผู้ร่วมการทดลองคือประชาชนในอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา จำนวน 256 คนเป็นชาย 128 คน และหญิง 128 คน ถูกลืมเลือกด้วยวิธีสุ่มแบบบังเอิญ (accidental sampling) โดยผู้ช่วยการทดลองหญิง 2 คน ให้วิธีการทดสอบความแตกต่าง ระหว่างสัดส่วน (Testing the differences between two proportions) โดยใช้สถิติทดสอบซี (Z-test) ในการทดสอบสมมติฐาน ผลการทดลองพบว่า 1. สัดส่วนความช่วยเหลือที่ผู้ช่วยการทดลองได้รับจากการขอความช่วยเหลือด้วยภาษาปักษใต้ ไม่แตกต่างจากความช่วยเหลือที่ผู้ช่วยการทดลองได้รับจากการขอความช่วยเหลือด้วยภาษากลาง ทั้งในการขอให้ตอบแบบสำรวจ และการขอแลกธนบัตรห้าสิบบาท 2. สัดส่วนความช่วยเหลือที่ผู้ช่วยการทดลองได้รับจากการขอความช่วยเหลือที่เกิดการสูญเสียน้อย มากกว่าการขอความช่วยเหลือที่เกิดการสูญเสียมากอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ทั้งในการขอให้ตอบแบบสำรวจ และการขอแลกธนบัตรห้าสิบบาท