Abstract:
การประเมินการตีความตัวบททางศาสนาเป็นปัญหาหลักเรื่องหนึ่งในปรัชญาศาสนา แม้ว่าพุทธศาสนาเถรวาทถือว่าตัวบท (ได้แก่ พระไตรปิฎก) มีความสำคัญอย่างสูง แต่การศึกษาตัวบทอย่างเดียวก็ยังไม่เพียงพอต่อการบรรลุธรรมตามคำสอนในพุทธศาลนาเถรวาท ในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ จะพิจารณาแนวคิดเรื่องการตีความและการประเมินการตีความตัวบทในพุทธศาสนาเถร วาท เพื่อแสดงให้เห็นถึงเงื่อนไขของการตีความและการประเมินการตีความตัวบทในพุทธศาสนาเถรวาท อันประกอบด้วยเงื่อนไขด้านผู้อ่านและเงื่อนไขด้านตัวบท เงื่อนไขหรือเกณฑ์ของการประเมินการตีความตัวบทในพุทธศาสนาเถรวาท ได้แก่ 1) เงื่อนไขจำเป็น คือการตีความนั้นต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความเห็นผิดเดิมของผู้อ่านให้เป็นความเห็นที่ชอบที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิ) พัฒนาให้เกิดปัญญาในเบื้องต้น 2) เงื่อนไขเพียงพอ คือเมื่อนำผลที่ได้จากการตีความนั้นไปปฏิบัติอย่างถูกต้องแล้ว ย่อมทำให้เกิดผลของการปฏิบัติธรรม ได้แก่ ปัญญาในระดับสูง (ภาวนามยปัญญา) ซึ่งทำให้ดับทุกข์ได้ในระดับหนึ่ง 3) เงื่อนไขโดยสมบูรณ์ คือ การตีความตัวบทนำไปสู่การปฏิบัติธรรมและส่งผลให้เกิดการดับทุกข์บรรลุธรรมได้โดยสมบูรณ์ในท้ายที่สุด เงื่อนไขเหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่อยู่ภายนอกอันพัฒนามาจากตัวบท ดังนั้น การประเมินการตีความตัวบทในพุทธศาสนาเถรวาทจึงไม่ได้เป็นการประเมินจากภายในตัวบทนั้นเองเท่านั้น แต่เป็นการประเมินจากธรรมที่เป็นความจริงอันประเสริฐที่อยู่ภายนอกตัวบท ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ผ่านการศึกษาตัวบทและปฏิบัติธรรมตามคำสอนในพุทธศาสนา