Abstract:
นิเวศจุลชีพในลำไส้มีบทบาทสำคัญต่อสารอาหารของร่างกายและระบบภูมิคุ้มกัน ความหลากหลายของนิเวศจุลชีพในลำไส้สามารถเป็นตัวบ่งชี้ถึงสภาวะของสุขภาพ การเปลี่ยนแปลง องค์ประกอบของนิเวศจุลชีพในลำไส้จึงมีความสัมพันธ์ต่ออาการและการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน โรคลำไส้อักเสบ และโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 1 โรคปลอกประสาทอักเสบ รวมทั้งโรคเอสแอลอี ซึ่งเป็นโรคที่ยังไม่ทราบกลไกแน่ชัด และยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ นอกจากนี้ การรักษาสมดุลของนิเวศจุลชีพในลำไส้ (homeostasis) ก็อาจนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีขึ้นได้ โครงการนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของนิเวศจุลชีพในลำไส้ของหนูทดลอง สายพันธุ์ C57BL/6 ที่สุขภาพดีกับหนูทดลอง C57BL/6 ที่เป็นโรคเอสแอลอีที่เกิดจากการกระตุ้นด้วย สารเคมี (pristane) และที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม (FcgRIIB-/-) โดยวิเคราะห์ระดับ ความรุนแรงของโรคจากปริมาณ anti-dsDNA, ปริมาณโปรตีนในปัสสาวะ, IL-6, TNF-a และ IL-10 กับการเปลี่ยนแปลงของนิเวศจุลชีพในลำไส้ จากมูลของหนูทดลองให้เป็นตัวแทนของจุลินทรีย์ในลำไส้ ที่ระยะเวลา 2, 4, 6, 8 และ 10 เดือน โดยเทคนิคเมตาจีโนมิกส์ร่วมกับการวิเคราะห์ลำดับเบสที่ยีน 16S ไรโบโซมอลอาร์เอ็นเอ จากนั้นวิเคราะห์ทางชีวสารสนเทศ ด้วยโปรแกรม Mothur พบว่าการดำเนินของอาการในโรคเอสแอลอีมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของนิเวศจุลชีพในลำไส้ โดยกลุ่ม pristane มีอาการของโรคที่อายุ 6 เดือนและมีการเพิ่มความหลากหลายของ OTUs แต่กลุ่ม knockout จะเริ่มมีอาการตั้งแต่เล็กน้อยที่อายุ 4 เดือนและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่มีการเพิ่มขึ้นของ OTUs และพบว่ามี ชนิดของแบคทีเรีย ที่มีการเปลี่ยนแปลง ที่อายุ 4 เดือนทั้งสองกลุ่มได้แก่ มีการลดลงของ Lachnospiraceae, Oscillospira และ Clostridium methylpentosum ส่วนที่มีการเพิ่มขึ้นได้แก่ มีการเพิ่มขึ้นของแบคทีเรียในคลาส Mollicutes ตั้งแต่ที่อายุ 6 เดือน