Abstract:
เพลงเรื่องเป็นเพลงไทยประเภทหนึ่งที่ปรากฏมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา เพลงฉิ่งเป็นเพลงเรื่องประเภทหนึ่ง ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาขณะพระฉันอาหารโดยระหว่างพระฉันเช้าและพระฉันเพล ใช้เพลงแตกต่างกันไป พระฉันเช้าเป็นเพลงฉิ่งเรื่องใหญ่ เรียกกันว่า "พระฉิ่งพระฉัน" ใช้บรรเลงทั่วไปทุกสำนัก เพลงฉิ่งพระฉันเพล สำนักพาทยโกศลบรรเลงเพลงเรื่องกระบอกและเพลงพระยาพายเรือ กรมศิลปากรบรรเลงเพลงเรื่องกระบอก สำนักครูพุ่ม บาปุยะวาทย์บรรเลงเพลงเรื่องจิ้งจกทอง ตัวตนที่แท้จริงของเพลงฉิ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ได้แก่ ลักษณะการดำเนินทำนองหลัก มีมือฆ้องเป็นลักษณะเฉพาะของตัวเอง ลักษณะทำนองที่มีความไม่ลงตัว ไม่แน่นอน ไม่เท่ากัน แต่สามารถนำมาเรียงร้อยต่อกันอย่างเหมาะสม มีการตัดทอนเพลงจากชุดทำนองที่ไม่ลงตัวอย่างเพลงประเภทอื่น ๆ ไปสู่ทำนองที่ละเอียดขึ้นได้ กระสวนของทำนองมีความเบาและสบาย เพลงเรื่องประเภทเพลงเร็วมีลักษณะใกล้เคียงกับเพลงเรื่องเพลงฉิ่งมากที่สุด แต่เพลงเร็วมีความลงตัวมากกว่าเพลงฉิ่ง เนื่องจากมีจังหวะหน้าทับควบคุม นอกจากนี้เพลงเร็วยังมีความเข้มข้นและหนักแน่นมากกว่า คุณสมบัติร่วมระหว่างเพลงเร็วกับเพลงฉิ่ง ได้แก่ เนื้อทำนองหลักมีการตีแบบ "ลักษณะจังหวะสะบัด" "ตีคู่แปด" มีท่วงทำนอง "โยน" ประกอบโดยทั่วไปและส่วนใหญ่มักพบในตอนท้ายของทุก ๆ ท่อน มักมีการซ้ำประโยคแต่ละประโยค 2 ครั้งเสมอ เนื้อทำนองหลักมีการบังคับมือให้ถี่ขึ้นกว่าปกติ เพลงฉิ่งอัตราชั้นเดียว ใช้ประกอบการแสดงในการชมธรรมชาติของตัวละคร และมีการนำเพลงฉิ่งมุล่งใช้เป็นบทเพลงฝึกทักษะในการไล่มือกันอย่างแพร่หลายจากอดีตจนถึงปัจจุบัน