Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์การศึกษาเพื่อศึกษาบทบาทของกรมราชทัณฑ์เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงที่เคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงที่เคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว และเพื่อพัฒนาแนวทางการปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ต่อผู้ต้องขังหญิงที่เคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว โดยใช้วิธีการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interview) จากกลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน 10 ท่าน ได้แก่ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา ผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการจากทัณฑสถานหญิงชลบุรี ผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า บทบาทของกรมราชทัณฑ์ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงที่เคยตกเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวภายใต้การดูแลของกรมราชทัณฑ์ปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) เป็นหลักการสำคัญในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงมีบทบาทสำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ 1) บทบาทด้านการจำแนกและรับตัวผู้ต้องขังหญิง 2) บทบาทด้านสุขภาพอนามัย 3) บทบาทด้านการจัดการสภาพแวดล้อมและอาคารสถานที่ 4) บทบาทด้านการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย และ5) บทบาทด้านการติดตามหลังพ้นโทษ นอกจากนี้พบว่าการปฏิบัติงานของกรมราชทัณฑ์ปัจจุบันมีปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งจากภายในและจากสภาพแวดล้อมภายนอกที่มีผลต่อประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของกรมราชทัณฑ์ ทั้งนี้กรมราชทัณฑ์ควรประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพการดูแลผู้ต้องขังหญิงที่กระทำผิดเนื่องจากเคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวอย่างเหมาะสมต่อไป