Abstract:
ศึกษาว่ารูปแบบความผูกพันที่แบ่งเป็นสี่ด้าน ได้แก่ มั่นคง หมางเมิน หมกมุ่น และหวาดหวั่น มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับการอนุมานสาเหตุการกระทำของตนเองและผู้อื่น ในสถานการณ์ทางลบหรือไม่ ซึ่งการอนุมานสาเหตุสามารถแบ่งออกได้สามมิติ ได้แก่ มิติแหล่งกำเนิดของสาเหตุ มิติความคงทนถาวรและมิติความเป็นสากล และศึกษาว่ารูปแบบความผูกพันจะมีความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญกับความลำเอียง ในการอนุมานสาเหตุ ได้แก่ ความคลาดเคลื่อนพื้นฐานในการอนุมานสาเหตุ และปรากฏการณ์ผู้กระทำ-ผู้สังเกตหรือไม่ ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้ร่วมการวิจัย (N = 400) เป็นชายและหญิงที่มีอายุระหว่าง 17-37 ปี และจบการศึกษาหรือกำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีขึ้นไป ผลการวิจัยพบว่า 1. รูปแบบความผูกพันด้านมั่นคงมีสหสัมพันธ์เชิงเส้นตรงทางบวก กับการอนุมานสาเหตุการกระทำของตนเองในแง่ดีทั้งในมิติแหล่งกำเนิดของสาเหตุ มิติความคงทนถาวร และมิติความเป็นสากล 2. รูปแบบความผูกพันด้านมั่นคงมีสหสัมพันธ์เชิงเส้นตรงทางบวก กับการอนุมานสาเหตุการกระทำของผู้อื่นในแง่ดีเฉพาะในมิติความคงทนถาวร และมิติความเป็นสากล 3. รูปแบบความผูกพันด้านหมกมุ่นมีสหสัมพันธ์เชิงเส้นตรงทางบวก กับการอนุมานสาเหตุการกระทำของตนเองในแง่ร้ายเฉพาะในมิติความคงทนถาวร และมิติความเป็นสากล 4. รูปแบบความผูกพันด้านหมกมุ่นมีสหสัมพันธ์เชิงเส้นตรงทางบวก กับการอนุมานสาเหตุการกระทำของผู้อื่นในแง่ร้ายเฉพาะในมิติความคงทนถาวร และมิติความเป็นสากล 5. รูปแบบความผูกพันด้านหมางเมินมีสหสัมพันธ์ที่ไม่มีนัยสำคัญ กับการอนุมานสาเหตุการกระทำของตนเองในแง่ดีทั้งในมิติแหล่งกำเนิดของสาเหตุ มิติความคงทนถาวร และมิติความเป็นสากล 6. รูปแบบความผูกพันด้านหมางเมิน มีสหสัมพันธ์เชิงเส้นตรงทางบวกกับการอนุมานสาเหตุการกระทำของผู้อื่นในแง่ร้าย ในเฉพาะในมิติแหล่งกำเนิดของสาเหตุ 7. รูปแบบความผูกพันด้านหวาดหวั่น มีสหสัมพันธ์เชิงเส้นตรงทางบวกกับการอนุมานสาเหตุการกระทำของตนเองในแง่ร้าย ทั้งในมิติแหล่งกำเนิดของสาเหตุ มิติความคงทนถาวร และมิติความเป็นสากล 8. รูปแบบความผูกพันด้านหวาดหวั่นมีสหสัมพันธ์เชิงเส้นตรงทางบวก กับการอนุมานสาเหตุการกระทำของผู้อื่นในแง่ร้ายทั้งในมิติแหล่งกำเนิดของสาเหตุ มิติความคงทนถาวร และมิติความเป็นสากล 9. รูปแบบความผูกพันด้านมั่นคง มีสหสัมพันธ์เชิงเส้นตรงทางลบกับคะแนนความคลาดเคลื่อนพื้นฐาน ในการอนุมานสาเหตุในระดับที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับคะแนนรูปแบบความผูกพันด้านหมางเมินและด้านหวาดหวั่น แต่สูงกว่าอย่างไม่มีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับคะแนนรูปแบบความผูกพันด้านหมกมุ่น 10. รูปแบบความผูกพันด้านหมางเมินไม่มีความสัมพันธ์กับปรากฏการณ์ผู้กระทำ-ผู้สังเกต แต่จากการวิเคราะห์เพิ่มเติม พบว่าเฉพาะในสถานการณ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์แบบทั่วไป ความผูกพันด้านหมางเมินมีสหสัมพันธ์เชิงเส้นตรงทางบวก กับปรากฏการณ์ผู้กระทำ-ผู้สังเกต 11. รูปแบบความผูกพันด้านหมางเมินมีสหสัมพันธ์เชิงเส้นตรงทางบวก กับความคลาดเคลื่อนพื้นฐานในการอนุมานสาเหตุในระดับสูงกว่า เมื่อเทียบกับรูปแบบความผูกพันด้านมั่นคง แต่ไม่แตกต่างเมื่อเทียบกับรูปแบบความผูกพันด้านหมกมุ่น ส่วนรูปแบบความผูกพันด้านหวาดหวั่นมีสหสัมพันธ์เชิงเส้นตรงทางบวก กับความคลาดเคลื่อนพื้นฐานในการอนุมานสาเหตุในระดับสูงกว่า เมื่อเทียบกับรูปแบบความผูกพันทั้งด้านมั่นคงและด้านหมกมุ่น