Abstract:
การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการใช้ทฤษฎีทางอาชญาวิทยาในคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยศึกษาถึงความแตกต่างระหว่างเพศ อายุ ระยะเวลาดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาและการศึกษาวิชาอาชญาวิทยาในระดับมหาวิทยาลัยว่ามีผลต่อการใช้ทฤษฎีทางอาชญาวิทยาหรือไม่ โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้พิพากษาศาลชั้นต้นในกรุงเทพมหานคร จำนวน 156 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามและจากการสัมภาษณ์ผู้พิพากษาที่มีอาวุโส รวม 5 ราย จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ แจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ทดสอบหาค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) และทดสอบด้วยสถิติ T-Test ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีลักษณะตามตัวแปรที่ศึกษาใช้ทฤษฎีทางอาชญาวิทยาในคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่แตกต่างกัน ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 ซึ่งไม่เป็นไปตามสมมติฐานที่กำหนดไว้ ผลที่ได้จากการสัมภาษณ์พบว่าเหตุที่ไม่มีความแตกต่างเพราะศาลพยายามที่จะให้ผลคำพิพากษาเป็นไปในแนวทางเดียวกันโดยกำหนดแนวมาตรฐานโทษในยี่ต๊อก และยังถูกตรวจสอบโดยศาลสูง นอกจากนั้นระบบกระบวนพิจารณาตามกฎหมายไทยไม่เปิดโอกาสให้ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับประวัติของผู้กระทำผิดเข้าสู่สำนวนเพราะถือว่าไม่เกี่ยวข้องกับประเด็น ทำให้ผู้พิพากษาและองค์คณะไม่สามารถนำทฤษฎีอาชญาวิทยามาประยุกต์ใช้ในคำพิพากษาของศาลได้