Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาอิทธิพลของสถานการณ์กลุ่มที่มีองค์ประกอบความเป็นกลุ่มน้อยที่สุด ที่มีต่อความลำเอียงระหว่างกลุ่มที่วัดโดยนัยและโดยตรง ตลอดจนความลำเอียงในการตัดสินผลงานของคนในกลุ่มตนและกลุ่มอื่น และบทบาทของความต้องการทางปัญญาในการปรับแก้ความลำเอียงที่เกิดขึ้น กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยเป็นนิสิตระดับปริญญาตรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 164 คน ที่ผ่านการคัดเลือกมาแล้วว่าเป็นกลุ่มที่มีความต้องการทางปัญญาสูงและต่ำอย่างละครึ่ง ผู้วิจัยสร้างสถานการณ์กลุ่มที่มีองค์ประกอบความเป็นกลุ่มน้อยที่สุดด้วยการให้ผู้ร่วมการทดลองท่องจำรายชื่อบุคคล 2 กลุ่ม ซึ่งผู้ร่วมการทดลองได้จับฉลากชื่อกลุ่มเพื่อนำชื่อของตนใส่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งด้วย จากนั้นผู้ร่วมการทดลองทำแบบทดสอบการเชื่อมโยงโดยนัยที่ประกอบด้วยสิ่งเร้า 2 ชุด ได้แก่ชื่อบุคคลในกลุ่มตนและในกลุ่มอื่น และคำคุณศัพท์บรรยายลักษณะบุคคลทางบวกและทางลบ แล้วจึงให้ประเมินคุณลักษณะและเจตคติที่มีต่อคนทั้งสองกลุ่ม สุดท้ายผู้ร่วมการทดลองประมาณครึ่งหนึ่งได้อ่านเรียงความที่ลงชื่อผู้เขียนซึ่งเป็นชื่อบุคคลในกลุ่มที่ตนเป็นสมาชิก ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่งได้อ่านเรียงความที่ลงชื่อผู้เขียนซึ่งเป็นชื่อบุคคลในกลุ่มอื่น แล้วให้ประเมินเรียงความดังกล่าว ผลการวิจัยพบว่า 1. ในรอบที่ชื่อบุคคลในกลุ่มตนเชื่อมโยงกับคุณลักษณะทางบวก ผู้ที่มีความต้องการทางปัญญาสูงและผู้ที่มีความต้องการทางปัญญาต่ำสามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าด้วยการกดปุ่มเพื่อจัดประเภทคำดังกล่าวได้เร็วกว่าในรอบที่ชื่อบุคคลในกลุ่มอื่นเชื่อมโยงกับคุณลักษณะทางบวก 2. ผู้ที่มีความต้องการทางปัญญาสูงและผู้ที่มีความต้องการทางปัญญาต่ำมีคะแนนจากการทดสอบการเชื่อมโยงโดยนัยที่แสดงถึงความลำเอียงระหว่างกลุ่มโดยนัยเข้าข้างกลุ่มตนไม่แตกต่างกัน 3. ผู้ที่มีความต้องการทางปัญญาสูง และผู้ที่มีความต้องการทางปัญญาต่ำมีคะแนนเจตคติที่วัดโดยตรงต่อกลุ่มตนสูงกว่าคะแนนเจตคติที่วัดโดยตรงต่อกลุ่มอื่น 4. ผู้ที่มีความต้องการทางปัญญาสูงและผู้ที่มีความต้องการทางปัญญาต่ำมีคะแนนความลำเอียงระหว่างกลุ่มที่วัดโดยตรงไม่แตกต่างกัน 5. ในกลุ่มผู้ที่มีความต้องการทางปัญญาสูง คะแนนความลำเอียงระหว่างกลุ่มที่วัดโดยนัยไม่มีสหสัมพันธ์กับคะแนนความลำเอียงระหว่างกลุ่มที่วัดโดยตรง 6. ในกลุ่มผู้ที่มีความต้องการทางปัญญาต่ำ คะแนนความลำเอียงระหว่างกลุ่มที่วัดโดยตรงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 7. ผู้ที่ความต้องการทางปํญญาสูงมีเจตคติต่อเรียงความที่รับรู้ว่าเป็นผลงานในกลุ่มตนไม่แตกต่างจากผู้ที่มีความทางปัญญาสูงที่รับรู้ว่าเรียงความนั้นเป็นผลงานของคนในกลุ่มอื่น 8. ผู้ที่มีความต้องการทางปัญญาต่ำมีเจตคติต่อเรียงความที่รับรู้ว่าเป็นผลงานของคนในกล่มตนสูงกว่าผู้ที่ต้องการทางปัญญาต่ำที่รับรู้ว่าเรียงความนั้นเป็นผลงานของคนในกลุ่มอื่น