Abstract:
มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งที่มีอัตราการตายมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก สามารถเกิดได้มากทั้งในเพศชายและเพศหญิงและจะเกิดมากขึ้นเมื่อมีอายุเพิ่มขึ้น โดยในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพที่ให้ผลเสียน้อย การใช้สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในการรักษามะเร็งเป็นหนทางใหม่ในการรักษา เนื่องจากสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพอาจทำลายเซลล์มะเร็งได้อย่างจำเพาะกว่าการใช้เคมีบำบัด โดยในปัจจุบันได้มีวิธีการเลี้ยงเซลล์แบบสามมิติ ซึ่งเป็นวิธีการเลี้ยงเซลล์ที่สามารถจำลองสภาวะแวดล้อมได้ใกล้เคียงกับเซลล์มะเร็งในร่างกาย โดยมีประโยชน์ในการค้นหาสารต้านมะเร็งชนิดใหม่ การเลี้ยงเซลล์แบบสามมิติจะเกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างเซลล์และระหว่างเซลล์กับ Extracellular matix (ECM) มีการลาดเอียงความเข้มข้นของสารอาหารและออกซิเจน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจำลองได้ในการเลี้ยงเซลล์แบบสองมิติ ในการศึกษานี้ ศึกษาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพทั้งหมด 11 สาร (รหัส ASTP40-42, ASTP53-60) ที่ทำให้บริสุทธิ์จากพืช 2 ชนิด Croton crassifolius และ Tiliacora triandra ต่อเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยทำการศึกษาเปรียบเทียบผลของสารเหล่านี้ต่อเซลล์มะเร็งที่ถูกเลี้ยงแบบสองมิติและสามมิติโดยใช้เซลล์ไลน์มะเร็งลำไส้ใหญ่ SW620 โดยผลจากการทำ MTT assay ในการทดสอบผลของสารต่อการอยู่รอดของเซลล์ในการเลี้ยงเซลล์แบบสองมิติพบว่ามีทั้งหมด 6 สารที่มีฤทธิ์ทำให้เซลล์มะเร็งตาย (ASTP40-42,57,59,60) และอีก 5 สารที่ไม่มีฤทธิ์ต่อการตายของเซลล์มะเร็ง (ASTP53-56,58) แต่เมื่อนำสารทั้งหมดไปทดสอบต่อในการเลี้ยงเซลล์แบบสามมิติด้วยการเลี้ยงใน Ultra-Low Attachment 96-well plate หลังจากได้ spheroid ของเซลล์มะเร็งแล้วจึงนำมาทดสอบด้วยสารสกัดแล้วนำไปย้อมสีนิวเคลียสด้วยสี Hoechst เพื่อดูลักษณะการตายของเซลล์มะเร็ง พบว่ามี 2 สารที่ให้ผลขัดแย้งกับผลการทดลองแบบสองมิติ ได้แก่ สาร ASTP55 ซึ่งจากที่เคยไม่มีฤทธิ์ในการกำจัดมะเร็งที่เลี้ยงแบบสองมิติแต่กลับพบว่ามีฤทธิ์ในการกำจัดเซลล์มะเร็งที่เลี้ยงแบบสามมิติ และสาร ASTP59 ที่จากเดิมเคยมีฤทธิ์ในการเลี้ยงเซลล์แบบสองมิติ พบว่ามีฤทธิ์น้อยลงในการเลี้ยงแบบสามมิติ แต่พบว่าสามารถทำให้ความหนาแน่นของ spheroid ลดลงได้ ต่อมาเมื่อดูจากผล ATP assay พบว่า สาร ASTP53 และ ASTP55 สามารถลดการเจริญของเซลล์มะเร็งในการเลี้ยงแบบสามมิติได้จากที่เคยไม่มีผลในการเลี้ยงแบบสองมิติ และผลทั้งหมดนี้ยังชี้ว่า การใช้ระบบเลี้ยงเซลล์แบบสามมิติในการศึกษาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ อาจช่วยให้สามารถค้นพบสารที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็งซึ่งมีแอคทิวิตี้ต้านมะเร็งใน in vivo ได้