Abstract:
สีของชาไทยในปัจจุบันมีความหลากหลายและต่างกันในแต่ละผู้ผลิต ซึ่งสีส่งผลต่อการยอมรับและความคาดหวังในรสชาติ โครงการนี้ทดสอบหาช่วงสีที่ผู้สังเกตยอมรับได้ว่าเป็นสีของชาไทย และความสัมพันธ์ระหว่างสีกับความคาดหวังในรสชาติของชาไทย สร้างตัวอย่างสีน้ำชาไทยจำนวน 15 ตัวอย่าง ที่ครอบคลุมสีของชาไทยที่สำรวจจากท้องตลาด ทำการทดลองดูสีภายใต้สภาวะ D65/10 ด้วยผู้สังเกตจำนวน 30 คนที่มีการมองเห็นสีปกติ ให้ผู้สังเกตนั่งห่างจากตัวอย่างสีเป็นระยะทาง 34 นิ้ว และตอบแบบสอบถามการยอมรับความพึงพอใจ และความคาดหวังในรสชาติ 3 รสชาติ คือความหวาน ความขม และความกลมกล่อม โดยให้คะแนนเป็น 5 ระดับตั้งแต่ 1 (น้อยที่สุด) ถึง 5 (มากที่สุด) ซึ่งมี 3 เป็นเกณฑ์แบ่งระหว่างความรู้สึกบวก (เช่น ยอมรับ) และลบ (เช่น ไม่ยอมรับ) ผลทดลองพบว่า สีสันที่ยอมรับได้ของชาไทยคือ สีส้มแดง ที่มีความสว่างปานกลางถึงสูงและมีความอิ่มตัวสีต่ำถึงปานกลาง ความหวานมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกับค่าความเป็นสีแดง (a*) ความขมมีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงข้ามกับค่าความสว่าง (L*) และผู้สังเกตคาดหวังรสชาติกลมกล่อมกับชาไทยที่มีรสชาติทั้งหวานและขม