Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาตัวประกอบคุณภาพชีวิตการทำงานของพยาบาลประจำการกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ พยาบาลประจำการจำนวน 742 คน ที่มีประสบการณ์การทำงานอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป ในโรงพยาบาลศูนย์ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข 15 โรงพยาบาลจาก 25 โรงพยาบาล ที่ได้จากการสุ่มตัวอย่างโดยวิธีสุ่มแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้คือแบบสอบถามคุณภาพชีวิตการทำงานที่ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหา และหาค่าความเที่ยงโดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบาค ได้ค่าความเที่ยงเท่ากับ .95 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์ตัวประกอบ สกัดตัวประกอบด้วยวิธีตัวประกอบหลักหมุนแกนตัวประกอบแบบออโธโกนอลด้วยวิธีแวริแมกซ์ ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ ตัวประกอบคุณภาพชีวิตการทำงานของพยาบาลประจำการ โรงพยาบาลศูนย์ สังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีทั้งหมด 7 ตัวประกอบ บรรยายด้วย 61 ตัวแปรมีค่าความแปรปรวนรวมกันคิดเป็นร้อยละ48.446 ได้แก่ 1. ตัวประกอบที่ 1 คุณลักษณะของงานพยาบาล เป็นตัวประกอบคุณภาพชีวิตการทำงาน ที่สามารถอธิบายความแปรปรวนได้มากที่สุดคือร้อยละ 11.184 มีตัวแปรที่บรรยายตัวประกอบ 15 ตัวแปร 2. ตัวประกอบที่ 2 ความก้าวหน้าและการพัฒนา เป็นตัวประกอบคุณภาพชีวิตการทำงาน ที่สามารถอธิบายความแปรปรวนได้ร้อยละ 9.584 มีตัวแปรที่บรรยายตัวประกอบ 15 ตัวแปร 3. ตัวประกอบที่ 3 สัมพันธภาพระหว่างบุคคล เป็นตัวประกอบคุณภาพชีวิตการทำงาน ที่สามารถอธิบายความแปรปรวนได้ร้อยละ 8.215 มีตัวแปรที่บรรยายตัวประกอบ 10 ตัวแปร 4. ตัวประกอบที่ 4 ความมีอิสระในการทำงาน เป็นตัวประกอบคุณภาพชีวิตการทำงาน ที่สามารถอธิบายความแปรปรวนได้ร้อยละ 6.252 มีตัวแปรที่บรรยายตัวประกอบ 8 ตัวแปร 5. ตัวประกอบที่ 5 สิ่งแวดล้อมในสถานที่ทำงาน เป็นตัวประกอบคุณภาพชีวิตการทำงาน ที่สามารถอธิบายความแปรปรวนได้ร้อยละ 5.956 มีตัวแปรที่บรรยายตัวประกอบ 5 ตัวแปร 6. ตัวประกอบที่ 6 เวลาทำงานที่เหมาะสม เป็นตัวประกอบคุณภาพชีวิตการทำงาน ที่สามารถอธิบายความแปรปรวนได้ร้อยละ 4.110 มีตัวแปรที่บรรยายตัวประกอบ 4 ตัวแปร 7. ตัวประกอบที่ 7 สิ่งตอบแทนที่เหมาะสม เป็นตัวประกอบคุณภาพชีวิตการทำงาน ที่สามารถอธิบายความแปรปรวนได้ร้อยละ 3.145 มีตัวแปรที่บรรยายตัวประกอบ 4 ตัวแปร