Abstract:
งานศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทของทุนมนุษย์และการวิจัยและพัฒนาที่มีต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยกำหนดขอบเขตการศึกษาในช่วงปี พ.ศ. 2520 - 2542 โดยดัชนีทุนมนุษย์ประมาณการจากใช้ข้อมูลค่าจ้างที่แรงงานได้รับ ซึ่งเป็นสัดส่วนของค่าจ้างแรงงานที่มีการศึกษาต่อค่าจ้างแรงงานที่ไม่มีการศึกษาและไม่มีประสบการณ์ ส่วนดัชนีการวิจัยและพัฒนานั้นประมาณขึ้นจากข้อมูลค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของภาครัฐ โดยแปลงให้อยู่ในรูปสต๊อกด้วยวิธีสะสมทุนนิรันดร (Perpetual Inventory Method) ผลการศึกษาพบว่า ดัชนีทุนมนุษย์และดัชนีการวิจัยและพัฒนามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยมีอัตราการเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 4.7 และ 8.4 ต่อปีตามลำดับ เมื่อพิจารณาบทบาทของ ดัชนีทั้งสองที่มีต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ พบว่า การวิจัยและพัฒนามีบทบาทต่อการ เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ทุนมนุษย์ไม่ได้รับการยืนยันถึงบทบาทอย่างมีนัยสำคัญ โดยผลของการวิจัยและพัฒนาที่มีต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมีความล่าช้าประมาณ 5 ปี นอกจากนี้ ปัจจัยอื่น ๆ อันได้แก่ สต๊อกทุน จำนวนแรงงาน และวิกฤตเศรษฐกิจ มีบทบาทต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเช่นกัน ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ได้จากผลการศึกษาคือ ควรส่งเสริมให้มีการพัฒนาและสะสมทุนมนุษย์และการวิจัยและพัฒนาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เนื่องจากปัจจัยทั้งสองมีการเสื่อมค่าได้ โดยการส่งเสริมทุนมนุษย์ควรสนใจผลิตแรงงานในสาขาการศึกษาที่ตรงกับความต้องการของระบบเศรษฐกิจเป็นสำคัญ มิใช่เพียงแค่ส่งเสริมให้แรงงานมีระดับการศึกษาที่สูงขึ้นเท่านั้น ขณะ เดียวกันการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาควรต้องเริ่มทำการลงทุนโดยเร็ว เนื่องจากผลจากการสะสมการวิจัยและพัฒนาต้องอาศัยระยะเวลาในการมีผลสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ