Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของการรำเพลงหน้าพาทย์กลมในการแสดงโขน ในเรื่ององค์ประกอบของการรำ กระบวนท่ารำเพลงหน้าพาทย์กลมอรชุน และกลมนารายณ์ที่ปรากฏในการแสดงโขน เรื่อง รามเกียรติ์ ตามรูปแบบการแสดงของกรมศิลปากร ณ โรงละครแห่งชาติ ระหว่างปี พ.ศ. 2477 - 2544 ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาข้อมูลจากเอกสารทางวิชาการที่เกี่ยวข้องสัมภาษณ์ผู้ที่เคยแสดงกระบวนท่ารำเพลงหน้าพาทย์กลมในการแสดงโขน และรับการถ่ายทอดกระบวนท่ารำเพลงหน้าพาทย์กลมในการแสดงโขน จากผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านนาฏยศิลป์ไทย 2 ท่าน ได้แก่ อาจารย์อุดม อังศุธร และอาจารย์ธงไชย โพธยารมย์ ผลการวิจัยพบว่า การรำเพลงหน้าพาทย์กลม เป็นศิลปะการแสดงที่มีการสืบทอดโดยปรากฏทั้งในการแสดงโขน และละครตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่ใช้ในความหมายของการเดินทางไกล อย่างสง่างาม และการตรวจพลยกทัพของเทวดา ตลอดจนเป็นการอวดฝีมือในการแสดงทางนาฏยศิลป์ไทย การสืบทอดการรำเพลงหน้าพาทย์กลมในการแสดงโขน ของกรมศิลปากร แบ่งออกเป็น 4 สาย ได้แก่ สายกรมพระพิทักษ์เทเวศร์ สายสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ ที่แตกออกเป็นสายคุณครูลมุล ยมะคุปต์ และสายท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี โดยปรากฏว่าทั้ง 4 สาย สืบทอดมาจากการแสดงละครใน องค์ประกอบต่าง ๆ ในการรำเพลงหน้าพาทย์กลมในการแสดงโขน ประกอบด้วยบทประกอบการแสดง เครื่องแต่งกาย ดนตรี และผู้แสดงมักเป็นตัวนายโรงของโขน กระบวนท่ารำมีความสอดคล้องสัมพันธ์กับกระบี่ - กระบอง การรำเพลงหน้าพาทย์กราวนอกและการรำทางละครใน กระบวนท่ารำไม่ตายตัว ผู้แสดงต้องเลือกกระบวนท่ารำอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึง 1) เวลาในการแสดง 2) โครงสร้างการแสดง ซึ่งมีการเริ่มต้น ท่าเฉพาะตัวละคร และท่าเชิด 3) การไม่เรียงซํ้าท่า หรีอซํ้าทิศ 4) หน้าทับ ไม้กลอง 5) การรำครบ 3 ด้าน คือ ด้านหน้า และด้านข้าง 2 ด้าน- 6) การใช้หน้าหนังเพื่อแสดงความองอาจ งานวิจัยนี้ สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางสำหรับการศึกษาเพื่อสร้างสรรค์กระบวนท่ารำเพลงหน้าพาทย์กลมที่ใช้ในการแสดงสำหรับตัวละคร