Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งนำเสนอว่านวนิยายเรื่องเจน แอร์ ของชาร์ลอตต์ บรองเตและรีเบกกา ของดาฟเน ดูโมริเย มีอิทธิพลในการสร้างสรรค์นวนิยายกอธิคแนวพาฝันของไทย อิทธิพลนั้นปรากฏอยู่ในโครงเรื่อง แนวคิด ตัวละคร และฉาก แต่ด้วยค่านิยมและสังคมที่แตกต่างกันทำให้นวนิยายกอธิคแนวพาฝันของไทยมีลักษณะแตกต่างออกไป นวนิยายเรื่องเจน แอร์ สร้างสูตรในการเขียนนวนิยายกอธิคแนวใหม่ด้วยลักษณะสามประการ คือ ภาพลักษณ์ของตัวละครเอกฝ่ายหญิงที่ต่างไปจากขนบ ความรักต่างศักดิ์ของชายเจ้าของคฤหาสน์กับครูสอนประจำบ้านและการสร้างปมปริศนาภายในคฤหาสน์ นวนิยายเรื่องเบกกานำสูตรของชาร์ลอตต์ บรองเตมาใช้และเพิ่มกลวิธีในแนวสืบสวนการฆาตกรรม นวนิยายทั้งสองเรื่องเสนอแนวคิดการให้ความสำคัญกับตัวตนของผู้หญิงและแสดงความเป็นนวนิยายกอธิคแนวใหม่ที่แสดงให้เห็นความซับซ้อนภายในใจของมนุษย์ ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้นวนิยายทั้งสองเรื่องใช้ชื่อเรื่องตามชื่อของตัวละคร ขณะที่นวนิยายของไทยให้ความสำคัญกับการนำเสนอเนื้อเรื่องมากกว่าจึงนิยมตั้งชื่อนวนิยายตามสถานที่สำคัญของเรื่อง นอกจากคุณค่าทางความบันเทิงแล้ว นวนิยายยังแสดงคุณค่าทางด้านแนวคิดเรื่องความรักและชีวิตโดยสะท้อนผ่านตัวละคร กล่าวคือรักแท้สามารถเอาชนะอุปสรรคโดยมีมโนธรรมเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง ผลของการดำเนินชีวิตที่ผิดพลาดเพราะกิเลสตัณหาจนละเลยสิ่งที่ดีงามจนทำให้ชีวิตพบกับความหายนะในที่สุด นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่าคุณค่าของผู้หญิงอยู่ที่ความเป็นกุลสตรี โดยดำเนินเรื่องด้วยการใช้ฉากและบรรยากาศอย่างไทย บางครั้งนำเรื่องผีและวิญญาณรวมทั้งความเชื่อในเรื่องกรรมมาใช้ นวนิยายกอธิคแนวนี้ของไทยมีเสน่ห์ตรงที่นำเรื่องราวของความรักมารวมกับความลึกลับและการจบเรื่องด้วยความสมหวังของตัวละครเอก