Abstract:
ผึ้งใช้ยางไม้ขนาดเล็กในสกุล Heriades Spinola, 1808 เป็นผึ้งกัดใบขนาดเล็กที่ปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 130 ชนิดทั่วโลกและมีการกระจายตัวในทวีปเอเชีย แอฟริกา และอเมริกา Heriades มีขนาดประมาณ 4-7 มิลลิเมตร โดยส่วนใหญ่ชอบทำรังในกิ่งไม้ขนาดเล็กที่ถูกเจาะไว้อยู่แล้วโดยแมลงชนิดอื่น โดยชื่อของผึ้งใช้ยางไม้ขนาดเล็กนี้ถูกตั้งขึ้นตามพฤติกรรมในการสร้างรังโดยใช้ยางไม้หรือ resin ในการปิดผนึกเซลล์ที่ใช้วางไข่ Heriades เป็นผึ้งพื้นถิ่นที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีรายงาน Heriades ในประเทศไทยเพียงชนิดเดียว คือ Heriades laosella Cockerell, 1929 และข้อมูลทางด้านชีววิทยาและอนุกรมวิธานของผึ้งสกุลนี้ยังมีอยู่น้อยมากในไทย วัตถุประสงค์ในการศึกษานี้จึงต้องการทบทวนอนุกรมวิธานของผึ้งสกุล Heriades ในประเทศไทยโดยศึกษาจากตัวอย่างจำนวน 95 ตัวอย่าง (62, 33) ซึ่งเป็นตัวอย่างที่มีการรวบรวมจากภาคสนามทั่วประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 จนถึงปัจจุบันและเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทำการศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยาและลักษณะของอวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้อย่างละเอียด รวมทั้งข้อมูลการกระจายตัว จากผลการศึกษาสามารถระบุ morphospecies จากตัวอย่างของ Heriades เพศเมียในไทยได้อย่างน้อย 2 Morphospecies (morphospecies 1 54 ตัว และ morphospecies 2 8 ตัว) นอกจากนี้ยังได้ทำการเปรียบเทียบกับ type specimens ของ H. laosella Cockerell, 1929 และ Megachile parvula Lepeletier, 1841 ที่เก็บรักษาไว้ที่ Natural History Museum, London และ H. othonis Friese, 1914 จาก Museum fur Naturekunde, Berlin เพื่อยืนยันชื่อชนิดของ Heriades ที่พบในไทย ผลการศึกษาในครั้งนี้เป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการศึกษาชีววิทยาของผึ้งในสกุล Heriades ในไทยต่อไปในอนาคต