Abstract:
ป่าไม้เป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญโดยทำหน้าที่ในการช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศให้อยู่ในรูปของมวลชีวภาพเพื่อช่วยลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งป่าชุมชนเป็นป่าประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญแต่ยังมีผู้ทำการศึกษาน้อย การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปริมาณมวลชีวภาพเหนือพื้นดินและปริมาณธาตุคาร์บอนที่สะสมในมวลชีวภาพเหนือพื้นดินในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านบุญเรือง ตำบลไหล่น่าน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน โดยทำการวางแปลงถาวรขนาด 40×40 ตารางเมตร จำนวนทั้งหมด 4 แปลง ทำการบันทึกชนิดพันธุ์ไม้ที่พบ วัดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางระดับอกและความสูงของไม้ยืนต้นแต่ละต้น จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาคำนวณค่ามวลชีวภาพเหนือพื้นดินโดยใช้สมการอัลโลเมทริกของระบบนิเวศป่าผลัดใบ และหาปริมาณธาตุคาร์บอนที่สะสมโดยมีค่าประมาณร้อยละ 50 ของมวลชีวภาพเหนือพื้นดิน ผลการศึกษาพบไม้ยืนต้นทั้งหมด 1,038 ต้น โดยคิดเป็นความหนาแน่นของต้นไม้ทั้งหมดเท่ากับ 1,621 ต้นต่อเฮกแตร์ ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น 22 วงศ์ 39 ชนิด และมีชนิดที่ไม่สามารถจำแนกได้ 9 ชนิด และมีปริมาณธาตุคาร์บอนสะสมในมวลชีวภาพเหนือพื้นดินรวมเฉลี่ย 4 แปลงเท่ากับ 8.70±2.43 ตันคาร์บอนต่อเฮกแตร์ จากผลการศึกษาสามามารถสรุปได้ว่าในพื้นที่ที่ศึกษามีไม้ยืนต้นที่มีศักยภาพในการสะสมธาตุคาร์บอนในมวลชีวภาพเหนือพื้นดินต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับงานของอนงค์นาฏ เซ็งสุทธา (2555) ที่ทำการศึกษาการสะสมธาตุคาร์บอนในมวลชีวภาพเหนือพื้นดินของระบบนิเวศป่าผลัดใบ ตำบลไหล่น่าน อำเภอเวียงสา จ.น่าน โดยมีปริมาณธาตุคาร์บอนสะสมในมวลชีวภาพเหนือพื้นดินเท่ากับ 47.89±12.58 ตันคาร์บอนต่อเฮกแตร์ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการที่ในป่าชุมชนที่ศึกษานี้มีไม้ยืนต้นที่มีขนาดใหญ่จำนวนน้อย และไม้ยืนต้นส่วนใหญ่เป็นต้นขนาดเล็ก จึงจำเป็นจะต้องให้ความรู้แก่ชุมชนเกี่ยวกับประโยชน์ของป่าชุมชน การช่วยกันดูแลรักษาป่าชุมชน เช่น การร่วมการสร้างแนวกันไฟ การบวชป่า การใช้ประโยชน์ผลผลิตจากป่าในส่วนที่ไม่ใช่เนื้อไม้ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยทำให้ต้นไม้ที่มีขนาดเล็กอยู่รอดและเติบโตเป็นต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ได้