Abstract:
วิทยานิพนธ์เล่มนี้มุ่งที่จะศึกษาศิลปะการประพันธ์ร้อยกรองในวรรณคดีร้อยกรองของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เพื่อแสดงให้เห็นว่า วรรณคดีร้อยกรองของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มีลักษณะเด่นในด้านศิลปะการประพันธ์ทั้งในด้านเสียง คำ และการพรรณนาความซึ่งก่อให้เกิดทั้งความไพเราะและความหมายที่ลึกซึ้งกินใจ ผู้วิจัยได้ศึกษาวรรณคดีร้อยกรองของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ทั้งหมด ๑๐ เรื่อง ได้แก่ ลิลิตเพชรมงกุฎ อิเหนาคำฉันท์ กลอนและร่ายจารึกเรื่องสร้างภูเขาที่วัดราชคฤห์ โคลงพยุหยาตราเพชรพวง ลิลิตศรีวิชัยชาดก ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกกัณฑ์กุมารและกัณฑ์มัทรี สมบัติอมรินทร์คำกลอน กากีกลอนสุภาพ เพลงยาวเล่นว่าความ และเพลงยาวปรารภถึงเรื่องวัฏสงสาร จากการศึกษา ปรากฏว่า เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ใช้รูปแบบคำประพันธ์หลากชนิด แต่ละชนิดแต่งได้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์ และยังดีเด่นด้วยการเลือกสรรคำที่นำมาร้อยกรองได้กลมกลืนกับเนื้อหา ส่งสัมผัสได้ไพเราะพอเหมาะพอควร ก่อให้เกิดลีลาและจังหวะในคำประพันธ์ที่หลากหลายด้วยเช่นกัน ในขณะเดียวกันกวีก็ใช้คำที่ง่าย แต่ไพเราะและสื่อความได้ชัดเจนด้วย กวีเพิ่มความไพเราะให้คำประพันธ์ด้วยการเล่นเสียง และ การเล่นคำ การเล่นเสียงนั้น กวีนิยมเล่นเสียงสัมผัสพยัญชนะในลักษณะของสัมผัสคู่อย่างกว้างขวางในคำประพันธ์แทบทุกชนิด ส่วนการเล่นคำ กวีนิยมเล่นคำซ้ำ คำซ้อน และคำพ้อง การเล่นเสียงเล่นคำปรากฏชัดเจนในการใช้กลบท ซึ่งกลบทของท่านส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการเพิ่มบังคับสัมผัสคู่และการซ้ำคำ อันเป็นลักษณะเด่นในศิลปะการประพันธ์ของท่านนั่นเอง ศิลปะการประพันธ์เหล่านี้ก่อให้เกิดทั้งความไพเราะ และช่วยเสริมความหมายของคำประพันธ์นั้นๆให้แจ่มชัดยิ่งขึ้น กวีได้นำการเล่นเสียงเล่นคำและศิลปะการประพันธ์อื่นๆ เช่น ความเปรียบ มาใช้ในการพรรณนาความโดยผ่านลีลาเสาวรจนี นารีปราโมทย์ พิโรธวาทัง และสัลลาปังคพิไสย์ อันแสดงให้เห็นว่า ศิลปะการประพันธ์เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การพรรณนาความมีความดีเด่นทั้งในด้านความไพเราะ การสร้างจินตภาพ และให้ความหมายที่ลึกซึ้งกินใจ