Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาปัจจัยคัดสรรที่สัมพันธ์กับการติดยาเสพติดของวัยรุ่นชายตอนต้นในกรุงเทพมหานคร กลุ่มตัวอย่างมีจำนวนทั้งสิ้น 498 คน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มวัยรุ่นชายที่ติดยาเสพติด ในโรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลธัญญารักษ์ และศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ลาดหลุมแก้ว อายุ 13-15 ปี จำนวน 248 คน และกลุ่มนักเรียนวัยรุ่นชายชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 2 และ3 ในโรงเรียนสีขาว ในกรุงเทพมหานคร อายุ 13-15 ปี จำนวน 250 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามสถานภาพทั่วไป มาตรวัดการอบรมเลี้ยงดูซึ่งพัฒนาตามรูปแบบการวิจัย เกี่ยวกับการอบรมเลียงดูของ Baumrind แบบวัดบุคลิกภาพ Extroversion / Introversion Inventory (1997 ) และแบบวัดการเห็นคุณค่าในตนเอง ของ Stanley Coopersmith ( 1984) นำข้อมูลมาวิเคราะห์โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์การจำแนกกลุ่ม ( Discriminant Analysis) ด้วยวิธีการวิเคราะห์แบบขั้นตอน ( Stepwise ) โดยใช้สถิติวิลค์สแลมดา ( Wilks’s Lambda ) เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกตัวแปรเข้าวิเคราะห์ ผลการวิจัยพบว่า จากการวิเคราะห์ผลข้อมูล ด้วยเทคนิคการจำแนกกลุ่ม ปรากฏว่า มีตัวแปรจำนวน 4 ตัวแปร จาก 13 ตัวแปร ที่สามารถอธิบายความแปรปรวน ของการเป็นสมาชิกกลุ่มวัยรุ่นชายที่ติดยาเสพติดและกลุ่มนักเรียนวัยรุ่นชาย ได้ถึงร้อยละ 82.1 ซึ่งตัวแปร 4 ตัวแปรตังกล่าว ถือเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับวัยรุ่นชายที่ติดยาเสพติด ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้แก่ปัจจัยดังต่อไปนี้ คือ (1) พฤติกรรมการใช้ยาเสพติดของเพื่อน (2) ระดับการศึกษา (3) การเห็นคุณค่าในตนเอง และ(4) สถานภาพการสมรสของพ่อแม่ (เรียงตามลำดับความสำคัญ จากค่าสัมประสิทธิ์ คาโนนิคัลมาตรฐาน Ci )