Abstract:
วัตถุประสงค์ของวิทยานิพนธ์ฉบับนี้คือการสำรวจ วิเคราะห์ และประเมินปัญหาความเป็นภววิสัยของวิทยาศาสตร์ในฐานะความรู้เชิงสังคม แนวคิดกระแสหลักในปรัชญาวิทยาศาสตร์ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 เชื่อว่าข้อความเชิงสังเกตสามารถแยกออกได้จากข้อความเชิงทฤษฎี ทำให้เราสามารถประเมินทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นภววิสัยได้ แต่จากปัญหาการพ่วงมากับทฤษฎีของการสังเกตและจากข้อโต้แย้งของทัศนะแบบคูห์น ทำให้เห็นว่าการสังเกตไม่อาจเป็นอิสระจากทฤษฎีและการเปลี่ยนแปลง ทฤษฎีในวิทยาศาสตร์ไม่อาจนำมาประเมินกันได้ วิทยาศาสตร์จึงไม่อาจคงความเป็นภววิสัยต่อไปได้ ทัศนะแบบคูห์นนำไปสู่ทัศนะแบบ strong programme ที่ชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงในวิทยาศาสตร์มีสาเหตุมาจากปัจจัยทางสังคม ทำให้วิทยาศาสตร์ถูกมองว่าเป็นความรู้เชิงสังคมแบบหนึ่งเท่านั้น ความเป็นภววิสัยของวิทยาศาสตร์จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ลองจิโนเห็นว่าแม้ปัจจัยเชิงสังคมจะมีบทบาทต่อการแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ แต่การใช้กระบวนการเชิงสังคมที่ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จะช่วยกลั่นกรองคุณค่าที่เป็นอัตวิสัยออกไปได้ ความรู้ที่ได้มาจึงยังสามารถถือได้ว่ามีความเป็นภววิสัย แต่ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นว่าลองจิโนใช้ความเป็นภววิสัยในความหมายที่ต่างไปจากเดิม อีกทั้งในข้อเสนอของลองจิโนยังมีข้อจำกัดบางประการนั้นคือ ในบางกรณี การมีความเห็นที่ต่างกันเป็นผลมาจากการยึดถือความเชื่อจากคนละกรอบความคิดที่ไม่อาจนำมาประเมินกันได้ ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวเป็นไปไม่ได้