Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาพฤติกรรมการเดินทางในเขตเมืองพิษณุโลกพร้อมทั้งได้พัฒนาแบบจำลองการเลือกยานพาหนะในการเดินทางโดยใช้ทั้งแบบจำลอง Multinomial Logit และแบบจำลอง Nested Logit ข้อมูลที่นำมาใช้เป็นข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้เดินทางจำนวน 400 คน ซึ่งมีที่พักอาศัยในเขตผังเมืองรวมพิษณุโลกและมีการเดินทางครั้งล่าสุดโดย รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถประจำทางหรือขนส่งสาธารณะอื่น ๆ ผลจากการประมาณค่าในแบบจำลอง Multinomial Logit พบว่าตัวแปรด้านการขนส่งที่มีนัยสำคัญต่อการเลือกยานพาหนะได้แก่ ผลต่างของเวลาในการเดินทางโดยยานพาหนะชนิดต่าง ๆ จำนวนยานพาหนะในครัวเรือน และวัตถุประสงค์ในการเดินทาง ส่วนตัวแปรทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีนัยสำคัญคือ เพศ อายุ จำนวนผู้ร่วมเดินทาง สถานภาพการทำงาน รายได้ของครัวเรือน และระดับการศึกษาของผู้เดินทาง แบบจำลองที่ได้มีค่าร้อยละการพยากรณ์ถูกต้องโดยรวมเท่ากับ 67.4 เปอร์เซ็นต์ และมีค่า McFadden-R2 เท่ากับ 0.343 ผลจากการประมาณค่าในแบบจำลอง Nested Logit พบว่าตัวแปรด้านการ1ขนส่งที่มีนัยสำคัญต่อการเลือกยานพาหนะได้แก่ ผลต่างของค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยยานพาหนะชนิดต่าง ๆ จำนวนยานพาหนะในครัวเรือน และวัตถุประสงค์ในการเดินทาง ส่วนตัวแปรทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีนัยสำคัญคือ เพศ อายุ จำนวนผู้ร่วมเดินทาง สถานภาพการทำงาน รายได้ของครัวเรือนและระดับการศึกษาของผู้เดินทาง แบบจำลองที่ได้มีค่าร้อยละการพยากรณ์ถูกต้องโดยรวมเท่ากับ 81 เปอร์เซ็นต์ และมีค่า McFadden-R2 เท่ากับ 0.364 โดยมีโครงสร้างการตัดสินใจในขั้นแรกคือ เลือกยานพาหนะเดินทางระหว่างยานพาหนะส่วนบุคคล รถประจำทางและรถสี่ล้อ ขั้นตอนที่สองผู้ที่เลือก เดินทางด้วยยานพาหนะส่วนบุคคลจะเลือกระหว่าง รถยนต์และรถจักรยานยนต์ เมื่อพิจารณาจากค่าสถิติแล้วพบว่าพฤติกรรมของผู้เดินทางในเขตผังเมืองรวมพิษณุโลกมีความสอดคล้องกับแบบจำลอง Nested Logit มากกว่าแบบจำลอง Multinomial Logit