Abstract:
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาการจัดการนํ้าเสียของหมู่บ้านจัดสรรในกรุงเทพมหานคร 2) ประเมินสภาพปัญหาและอุปสรรคในการจัดการนํ้าเสียของหมู่บ้านจัดสรรในกรุงเทพมหานคร 3) เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาและการพัฒนาการจัดการนํ้าเสียของหมู่บ้านจัดสรรในกรุงเทพมหานคร โดยทำการศึกษาการจัดการนํ้าเสียของหมู่บ้านจัดสรรในกรุงเทพมหานคร จำนวน 150 โครงการ การเก็บรวบรวมข้อมูลของการศึกษาครั้งนี้ อาศัยการสำรวจภาคสนาม การออกแบบสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ ผู้ประกอบการหรือเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการ ผู้อยู่อาศัยและการสัมภาษณ์ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดการนํ้าเสียของหมู่บ้านจัดสรรจากชุมชนใกล้เคียง โดยนำหลักการจัดการนํ้าซึ่ง หมายถึง การนำนํ้าเสียเข้าสู่กระบวน การบำบัดเพื่อให้ได้นํ้าทิ้งที่ได้มาตรฐาน จากการศึกษาการจัดการนํ้าเสียของหมู่บ้านจัดสรร พบว่า หมู่บ้านจัดสรรที่ไม่มีการติดตั้งระบบบำบัดนํ้าเสียมีจำนวน 43 โครงการ และหมู่บ้านที่มีการติดตั้งระบบบำบัดนํ้าเสีย มีจำนวน 107 โครงการ ในจำนวนดังกล่าว เป็นหมู่บ้านที่ติดตั้งระบบบำบัดนํ้าเสียตามบ้านเรือน ซึ่งไม่สามารถบำบัดนํ้าเสียได้ตามมาตรฐาน จำนวน 44 โครงการ และที่มีระบบบำบัดนํ้าเสียรวม จำนวน 63 โครงการ ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่มีการเปิดเดินเครื่อง และ/หรือขาดการบำรุงรักษา ดังนั้นนํ้าเสียที่ระบายออกจากหมู่บ้านจัดสรรส่วนใหญ่จึงไม่เป็นไปตามมาตรฐาน นอกจากนี้การจัดการนํ้าเสียที่ไม่มีประสิทธิภาพดังกล่าว ส่งผลให้แหล่งนํ้าในโครงการเน่าเสียและกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุของเชื้อโรคและแมลงต่าง ๆ รวมถึงชุมชนข้างเคียงที่ขาดแหล่งนํ้าสะอาดในการอุปโภค บริโภคอีกด้วย สำหรับปัญหาและอุปสรรคในการจัดการนํ้าเสีย พบว่า หมู่บ้านจัดสรรส่วนใหญ่ยังขาดแคลนบุคลากร งบประมาณในการจัดการนํ้าเสีย และความเข้าใจในการบำบัดนํ้าเสีย ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการบริหารและการจัดการนํ้าเสียในโครงการ ประกอบกับกฎหมายและมาตรการของภาครัฐที่มีอยู่ยังขาดความเหมาะสมในเชิงปฏิบัติ รวมทั้งขาดการติดตามตรวจสอบการดำเนินการจากหน่วยงานท้องถิ่น นอกจากนี้จากข้อกำหนดของการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ยังขาดองค์ประกอบที่ชัดเจนในการควบคุมการจัดสรรที่ดินให้เป็นไปตามผังเมือง ทำให้การจัดสรรที่ดินส่วนใหญ่ยังอยู่นอกเขตผังเมือง ซึ่งสาธารณูปโภคของรัฐยังไปไม่ถึง การศึกษาครั้งนี้ได้เสนอแนวทางในการจัดการนั้าเสียของหมู่บ้านจัดสรร โดยให้มีการจัดรูปแบบในการบริหารและการจัดการภายในโครงการให้เข้มแข็ง หน่วยงานท้องถิ่นควรเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบและติดตามการจัดการน้ำเสีย นอกจากนั้นรัฐบาลควรปรับปรุงกฎระเบียบในการควบคุมการจัดการนํ้าเสียของหมู่บ้านจัดสรรให้เหมาะสมตลอดจนวางแผนการจัดการสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการพัฒนาบ้านจัดสรร ในอันที่จะให้สอดคล้องกับข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมือง