Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิธีการแสดงการให้คำแนะนำในภาษาไทย และปัจจัยที่มีผลต่อการใช้ภาษาในการให้คำแนะนำ โดยใช้ข้อมูลจากการบันทึกการสนทนาจากวิทยุคลื่น 99.5 คลื่นหญิงพลังหญิง เป็นเวลา 1 เดือน จำนวน 542 เรื่อง ซึ่งแต่ละเรื่องมีการแสดงวัจนกรรมการให้คำแนะนำอย่างน้อย 1 ครั้ง ผลการวิจัยพบว่า โครงสร้างวัจนกรรมการให้คำแนะนำในภาษาไทยมีส่วนประกอบ 2 ส่วน คือ ส่วนที่แสดงเจตนาของผู้พูด และส่วนที่เป็นเนื้อหาของการแนะนำ คนไทยที่พูดภาษาไทยมาตรฐานมีวิธีการให้คำแนะนำ จำแนกตามลักษณะการปรากฏของโครงสร้างวัจนกรรมการให้คำแนะนำ ได้ 2 แบบ คือ แบบที่ 1 ปรากฏทั้งส่วนที่แสดงเจตนาของผู้พูด และส่วนที่เป็นเนื้อหาของการแนะนำ แบบที่ 2 ปรากฏเฉพาะส่วนที่เป็นเนื้อหาของการแนะนำ การให้คำแนะนำในภาษาไทย สามารถแสดงได้ทั้งโดยวิธีตรง และ โดยวิธีอ้อม การศึกษาครั้งนี้ พบว่า ส่วนที่แสดงเจตนาของผู้พูด สามารถปรากฏได้ทั้งคำกริยาแสดงเจตนา "แนะนำ" เพื่อแสดงการให้คำแนะนำโดยวิธีตรง และคำกริยาอื่นอีก 6 คำ คือ เรียน เสนอ เสนอแนะ ว่า บอกและคิด เพื่อแสดงการให้คำแนะนำโดยวิธีอ้อม ในส่วนที่เป็นเนื้อหาของการแนะนำ สามารถใช้รูปประโยคแจ้งให้ทราบ ถามให้ตอบ และบอกให้ทำ เพื่อแสดงการให้แนะนำโดยวิธีอ้อมได้ การศึกษาครั้งนี้ พบว่า วิธีการใช้ภาษาในการให้คำแนะนำที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่องที่พูด และความสัมพันธ์ระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง