Abstract:
ความสำคัญและที่มาของการวิจัย :การลอกหน้าด้วยกรดแลกติกความเข้มข้นร้อยละ50 เป็นการลอกระดับตื้น (superficial chemical peeling) สามารถนำมาใช้ในการรักษาฝ้า ออกฤทธิ์โดยลดการเกาะตัวของเซลล์และ เพิ่มการหลุดลอกของเซลล์ ซึ่งมีเม็ดสีอยู่ทำให้ฝ้าจางลง วัตถุประสงค์ในการวิจัย : เพื่อศึกษาประสิทธิภาพในการลอกด้วยกรดแลกติกความเข้มข้นร้อยละ 50 เปรียบเทียบกับกลุ่ม ควบคุมในการรักษาฝ้า วิธีการทำวิจัย :ได้ทำการศึกษาในผู้ป่วยทั้งหมด 43 คน ผู้ป่วยจะได้รับการลอกด้วยกรดแลกติกความเข้มข้นร้อยละ 50 บริเวณซีกหน้าเพียงด้านหนึ่ง ซีกหน้าด้านที่ไม่ได้รับการลอกเป็นกลุ่มควบคุม ทำการลอกทุก 2 สัปดาห์ เป็นระยะเวลา 28 สัปดาห์ (14 ครั้ง) แล้วเปรียบเทียบความแตกต่างของความเข้มข้นของฝ้าระหว่างซีกหน้าด้านที่ทำการลอกและไม่ทำการลอก ด้วยกรดแลกติกในการลอกครั้งที่ 9 และ 14 โดยใช้เครื่องมือวัดที่ใช้อ้างถึงความเข้มของฝ้า คือ Chroma-meter CR-300 ผลการวิจัย : จากจำนวนผู้ป่วย 43 คน พบว่าผู้ป่วยมาติดตามผลการรักษา 40 คน จนสิ้นสุดการรักษาพบว่าในการลอก ครั้งที่ 9 ความเข้มของฝ้าบริเวณซีกหน้าด้านที่ลอกด้วยกรดแลกดิกความเข้มข้นร้อยละ 50 ดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับซีกหน้า ด้านที่ไม่ได้ทำการลอก (P<0.005) เมื่อประเมินด้วยเครื่องมือวัดค่าที่ใช้อ้างอิงถึงความเข้มของฝ้า และพบว่าในการลอกครั้งที่ 14 ความเข้มของฝ้าบริเวณซีกหน้าด้านที่ทำการลอกด้วยกรดแลกติกความเข้มข้นร้อยละ 50 ดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับซีกหน้า ด้านที่ไม่ได้ทำการลอก (P<0.001) เมื่อประเมินด้วยเครื่องมือวัดค่าที่ใช้อ้างอิงถึงความเข้มของฝ้า อาการข้างเคียงคือรอยดำ (postinflammatory hyperpigmentation) พบในผู้ป่วย 2 คน คิดเป็นร้อยละ 5 ซึ่งรอยดำที่เกิดขึ้นนี้หายไปภายใน 4 สัปดาห์ ส่วน milia พบในผู้ป่วย 2 คน คิดเป็นร้อยละ 5 สรุปผลการวิจัย : จากการศึกษาพบว่ากรดแลกติกความเข้มข้นร้อยละ 50 มีประสิทธิภาพในการรักษาฝ้า สามารถใช้เป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาฝ้า