Abstract:
วัตถุประสงค์ของการวิจัย 1. เพื่อผลิตเทปโทรทัศน์ใช้ประกอบการฝึกอบรมกระบวนการกลุ่มแก่ข้าราชการพลเรือน ตั้งแต่ระดับ 3 เป็นต้นไป จำนวน 4 เรื่อง 2. เพื่อผลิตคู่มือสำหรับผู้ฝึกอบรม (ผู้ใช้เทปโทรทัศน์) และผู้รับการอบรม (ผู้ศึกษาเทปโทรทัศน์) ประกอบเทปโทรทัศน์แต่ละเรื่องที่ผลิตขึ้น 3. เพื่อหาประสิทธิภาพของเทปโทรทัศน์ที่ผลิตขึ้น 4. เพื่อสร้างหลักการและรูปแบบในการผลิตเทปโทรทัศน์ ใช้ประกอบการฝึกอบรมกระบวนการกลุ่ม การดำเนินการวิจัย ขั้นที่ 1 : ขั้นเตรียมการ คณะผู้วิจัยได้วางแผนงานในการดำเนินการทั้งหมด รวมทั้งได้เลือกสรรเรื่องทางด้านกระบวนการกลุ่มที่จะนำมาผลิตเป็นเทปโทรทัศน์ ตามเกณฑ์ที่ได้กำหนดขึ้นได้ จำนวน 4 เรื่องขั้นที่ 2 : ขั้นผลิตเทปโทรทัศน์ คณะผู้วิจัยได้ศึกษาและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ในด้านการผลิตบทโทรทัศน์ที่เหมาะสม และได้รวบรวมข้อมูลรวมทั้งกรณีตัวอย่างต่างๆ (cases) ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของเรื่องทั้ง 7 เรื่อง ต่อไปจึงได้ร่างบทโทรทัศน์ขึ้นแล้วทำการปรับปรุงแก้ไขโดยได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญและคณะที่ปรึกษา จนกระทั่งได้บทโทรทัศน์ฉบับสมบูรณ์ หลังจากนั้นจึงได้นำบทโทรทัศน์ดังกล่าวไปดำเนินการผลิตออกมาเป็นเทปโทรทัศน์ โดยคณะผู้วิจัยได้วางแผนและดำเนินการติดต่อประสานงานกับบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ ผู้ช่วยงานฝ่ายศิลป์ ผู้ช่วยงานฝ่ายเทคนิค การถ่ายทำและจัดฉากผู้แสดง และผู้ช่วยอื่นๆ รวมทั้งสิ้นประมาณ 70 คน รวมทั้งขอความร่วมมือและความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ อีกหลายแห่ง แล้วจึงลงมือถ่ายทำเทปโทรทัศน์จนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์ ขั้นที่ 3 : ขั้นผลิตแบบทดสอบและคู่มือต่างๆ คณะผู้วิจัยได้สร้างแบบทดสอบซึ่งจะใช้วัดผลสัมฤทธิ์ของผู้ศึกษาเทปโทรทัศน์แต่ละเรื่องขึ้น โดยสร้างให้มีสาระครอบคลุมวัตถุประสงค์และเนื้อหาของเทปโทรทัศน์แต่ละเรื่อง หลังจากสร้างแล้ว ผู้วิจัยได้ทดลองให้แบบทดสอบเหล่านั้น แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไข จนเป็นที่พอใจ หลังจากนั้นจึงได้นำแบบทดสอบเหล่านั้นไปใช้หาค่าความเที่ยง (reliability) โดยนำไปใช้กับกลุ่มตัวอย่างประชากรรวมทั้งสิ้น 423 คน นอกจากการสร้างแบบทดสอบแล้ว คณะผู้วิจัยยังได้สร้างคู่มือขึ้น 2 ประเภท คือ คู่มือสำหรับผู้ใช้เทปโทรทัศน์ และคู่มือสำหรับผู้ศึกษาเทปโทรทัศน์ ทั้งนี้เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้ผู้ศึกษาเทปโทรทัศน์ได้ประโยชน์จากการศึกษาให้มากที่สุด คู่มือดังกล่าวได้ผ่านการทดลองใช้และปรับปรุงแล้ว ขั้นที่ 4 : ขั้นหาประสิทธิภาพของเทปโทรทัศน์ คณะผู้วิจัยได้นำเทปโทรทัศน์ทั้ง 4 เรื่อง ไปใช้กับกลุ่มตัวอย่างประชากร ซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือนระดับ ซี 3-6 สังกัดต่างๆ จำนวนรวมทั้งสิ้น 423 คน คณะผู้วิจัยได้ให้กลุ่มตัวอย่างประชากรทำแบบทดสอบก่อนและหลังการชมเทปโทรทัศน์แล้วนำแบบทดสอบไปวิเคราะห์หาประสิทธิภาพของเทปโทรทัศน์ โดยการทดสอบค่าที (t-test) ขั้นที่ 5 : ขั้นเสนอหลักการและรูปแบบในการผลิตเทปโทรทัศน์ประกอบการฝึกอบรมกระบวนการกลุ่ม คณะผู้วิจัยได้สำรวจและวิเคราะห์แผนงาน หลักการ และวิธีการที่ได้ใช้ในการผลิตงานครั้งนี้แล้วจึงได้สังเคราะห์และสรุปเป็นหลักการและรูปแบบที่ผู้สนใจจะสามารถนำไปใช้ในการผลิตเทปโทรทัศน์เพื่อใช้ประกอบการฝึกอบรมกระบวนการกลุ่มในเรื่องอื่นๆ ต่อไป ผลการวิจัย 1. จากการดำเนินการวิจัยดังกล่าวข้างต้น คณะผู้วิจัยสามารถผลิตผลงานดังต่อไปนี้ 1.1 เทปโทรทัศน์ระบบ Video Cassette (U-matic) จำนวน 4 เรื่อง คือ 1.1.1 เรื่อง "มนุษยสัมพันธ์ในการทำงาน" ความยาว 43 นาที 1.1.2 เรื่อง "ลักษณะผู้นำ" ความยาว 28 นาที 1.1.3 เรื่อง "บทบาทสมาชิกกลุ่ม" ความยาว 40 นาที 1.1.4 เรื่อง "ทักษะการนำอภิปราย" ความยาว 45 นาที 1.2 คู่มือสำหรับผู้ศึกษาเทปโทรทัศน์ 4 เรื่อง เรื่องละ 1 เล่ม 1.3 คู่มือสำหรับผู้ใช้เทปโทรทัศน์ 4 เรื่อง รวม 1 เล่ม 1.4 บทโทรทัศน์ 4 เรื่อง รวม 1 เล่ม 1.5 แบบตัวอย่างหลักการการผลิตเทปโทรทัศน์ประกอบการฝึกอบรมกระบวนการกลุ่ม 1.6 แบบตัวอย่างหลักการการใช้เทปโทรทัศน์ ประกอบการฝึกอบรมกระบวนการกลุ่ม 2. จากการดำเนินการวิจัยดังกล่าวข้างต้น ปรากฏผลว่า 2.1 แบบทดสอบสำหรับเทปโทรทัศน์แต่ละเรื่อง มีค่าควมเที่ยง (reliability) ดังนี้ 2.1.1 แบบทดสอบชุดที่ 1 เรื่องมนุษยสัมพันธ์ในการทำงาน มีค่าความเที่ยง 0.923 2.1.2 แบบทดสอบชุดที่ 2 เรื่อง มนุษยสัมพันธ์ในการทำงาน มีค่าความเที่ยง 0.922 2.1.3 แบบทดสอบชุดที่ 1 เรื่อง ลักษณะผู้นำ มีค่าความเที่ยง 0.673 2.1.4 แบบทดสอบชุดที่ 2 เรื่อง ลักษณะผู้นำ มีค่าความเที่ยง 0.925 2.1.5 แบบทดสอบเรื่อง บทบาทสมาชิกกลุ่ม มีค่าความเที่ยง 0.885 2.1.6 แบบทดสอบเรื่อง ทักษะการนำอภิปราย มีค่าความเที่ยง 0.89 2.2 เทปโทรทัศน์ทั้ง 4 เรื่อง มีประสิทธิภาพในด้านการช่วยให้ผู้ศึกษามีพัฒนาการทางด้านการเรียนรู้หรือมีผลสัมฤทธิ์สูงขึ้น เนื่องจากคะแนนเฉลี่ยของการสอบหลังการศึกษาเทปโทรทัศน์สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของการสอบก่อนการศึกษาเทปโทรทัศน์ ที่ระดับความมีนัยสำคัญ .001 ในเรื่อง มนุษยสัมพันธ์ในการทำงาน ลักษณะผู้นำ และทักษะการนำอภิปราย และที่ระดับความมีนัยสำคัญ .01 ในเรื่องบทบาทสมาชิกกลุ่ม