Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มุ่งศึกษาความต้องการของครูอาจารย์ในการเสริมสร้างสมรรถภาพการวิจัยทางการศึกษา โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1. เพื่อศึกษาสถานภาพที่เกี่ยวกับการวิจัยของครูอาจารย์ในกรุงเทพมหานครที่สอนในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา 2. เพื่อศึกษาความต้องการการเสริมสมรรถภาพในด้านการอ่านงานวิจัยทางการศึกษาของครูอาจารย์ในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา 3. เพื่อศึกษาความต้องการการเสริมสมรรถภาพในด้านการใช้ผลงานวิจัยทางการศึกษา ตลอดจนปัญหาอุปสรรคในการใช้ผลงานวิจัยทางการศึกษาของครูอาจารย์ในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา 4. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการอ่านงานวิจัยทางการศึกษากับสถานภาพที่เกี่ยวกับการวิจัยทางการศึกษาของครูอาจารย์ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา 5. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ผลงานวิจัยทางการศึกษากับสถานภาพที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยทางการศึกษาของครูอาจารย์ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา 6. เพื่อศึกษารูปแบบการเสริมสมรรถภาพการวิจัยทางการศึกษาให้แก่ครูอาจารย์ ในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ตัวอย่างประชากรในการวิจัยนี้แยกออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกเป็นครูและผู้บริหารในโรงเรียนประถมศึกษาจำนวน 961 คน ครูและผู้บริหารในโรงเรียนมัธยมศึกษาจำนวน 1052 คน และอาจารย์และผู้บริหารระดับอุดมศึกษาในสถาบันผลิตครู จำนวน 587 คน สำหรับตัวอย่างประชากรประเภทที่สองเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษาและการวิจัยทางการศึกษา ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา รวมทั้งสิ้น 15 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์ที่สร้างโดยผู้วิจัยเอง แบบสอบถามใช้เพื่อศึกษาความคิดเห็นของครูอาจารย์เกี่ยวกับความต้องการการเสริมสมรรถภาพการวิจัยทางการศึกษา ส่วนแบบสัมภาษณ์ใช้เพื่อศึกษารูปแบบการเสริมสมรรภาพการวิจัยทางการศึกษา การวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถามคิดเห็นเกี่ยวกับความต้องการการเสริมสมรรถภาพการวิจัยทางการศึกษา ใช้โปรแกรมสำเร็จรูป Statistical Package for Social Science ( SPSS) หาค่าร้อยละ มัชฌิมเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสถิติไคสแคว์ และสัมประสิทธิ์การณ์จร สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสัมภาษณ์โดยการหาค่าร้อยละและรวบรวมเสนอเชิงบรรยาย ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. สำหรับสถานภาพที่เป็นประสบการณ์เกี่ยวกับการวิจัยทางการศึกษาของครูระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ปรากฏว่าจำนวนอาจารย์ระดับอุดมศึกษาที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการวิจัยทางการศึกษาคิดเป็นร้อยละมีมากกว่าครูในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา 2. ความต้องการของครูอาจารย์ในด้านการอ่านงานวิจัยทางการศึกษา พบว่า ครูระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาต้องการความรู้ทางการศึกษาเพื่อเสริมสมรรถภาพด้านการอ่านงานวิจัยทางการศึกษามากที่สุดในเรื่อง ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการเรียนการสอนส่วนอาจารย์ระดับอุดมศึกษาต้องการความรู้ทางการศึกษามากสุดในเรื่อง ความรู้ในเนื้อหาทางวิชาการ ส่วนความต้องการความรู้ทางการวิจัยและสถิติเพื่อเสริมสมรรถภาพการอ่านงานวิจัย พบว่า ครูอาจารย์แต่ละระดับต้องการความรู้ทางการวิจัยและสถิติอยู่ในระดับมาก 3. ความต้องการของครูอาจารย์ในด้านการใช้ผลงานวิจัยทางการศึกษาเพื่อเสริมสมรรถภาพการวิจัยทางการศึกษา พบว่าอาจารย์ในระดับอุดมศึกษามีความต้องการเครื่องอำนวยความสะดวกของแหล่งความพร้อมทางการวิจัยคิดเป็นร้อยละมากกว่าครูระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา 4. มีความสัมพันธ์ระหว่างการอ่านงานวิจัยทางการศึกษากับสถานภาพที่เป็นประสบการณ์การวิจัยของครูอาจารย์แต่ละระดับที่สอน 5. มีความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ผลงานวิจัยทางการศึกษา กับสถานภาพที่เป็นประสบการณ์การวิจัยของครูอาจารย์แต่ละระดับที่สอน 6. การเสริมสมรรถภาพการวิจัยทางการศึกษาสำหรับครูระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เน้นรูปแบบการให้อ่านงานวิจัยที่เป็นภาษาง่าย และการทำงานวิจัยเชิงประยุกต์หรืองานวิจัยเชิงปฏิบัติ ส่วนการเสริมสมรรถภาพการวิจัยทางการศึกษาแก่อาจารย์ระดับอุดมศึกษาเน้นรูปแบบการให้การอบรมและการสร้างบรรยากาศในการวิจัยเพื่อส่งเสริมให้อาจารย์ทุกคนทำงานวิจัย