Abstract:
ได้วิเคราะห์และเปรียบเทียบสารระเหยง่ายในใบกะเพรา ใบโหระพา และใบแมงลักด้วยเทคนิคแก๊สโครมาโทกราฟี-แมสสเปกโทรเมตรี (GC-MS) ร่วมกับเทคนิคเฮดสเปซโซลิดเฟสไมโครเอกซ์แทรกชัน (HS-SPME) โดยใช้แคปิลลารีคอลัมน์ประเภท HP-5MS ขนาด 30 m × 0.25 mm × 0.25 μm โดยวิเคราะห์ทีละตัวแปร (single factor optimization) เพื่อหาภาวะที่เหมาะสมในการเตรียมตัวอย่างใบกะเพรา ใบโหระพา และใบแมงลักด้วย HS-SPME พบว่าสภาวะที่เหมาะสมของ HS-SPME คือ อุณหภูมิที่ใช้ในการสกัดเท่ากับ 60 องศาเซลเซียส ระยะเวลาที่ใช้ในการสกัดเท่ากับ 45 นาที จากการพิสูจน์ทราบเอกลักษณ์ของสารระเหยง่ายในใบกะเพรา ใบโหระพา และใบแมงลัก โดยเปรียบเทียบแมสสเปกตรัมกับฐานข้อมูล NIST14 สามารถพิสูจน์ทราบเอกลักษณ์ของสารระเหยง่ายได้ทั้งหมด 74 ชนิด เมื่อใช้วิธีเคโมเมทริกซ์ชนิดการวิเคราะห์องค์ประกอบหลัก (PCA) พบว่าสามารถจำแนกกลุ่มของตัวอย่างออกเป็น 6 กลุ่ม คือ ตัวอย่างใบกะเพราสด ใบโหระพาสด ใบแมงลักสด ใบกะเพราคั่ว ใบโหระพาลวกและน้ำที่ผ่านการลวก ใบแมงลักลวกและน้ำที่ผ่านการลวก ด้วยรูปแบบ PCA ที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงบ่งชี้ได้ว่าสามารถใช้วิธี HS-SPME-GC-MS ร่วมกับวิธีเคโมเม ทริกซ์ในการวิเคราะห์และเปรียบเทียบสารระเหยง่ายในใบกะเพรา ใบโหระพา และใบแมงลักได้