Abstract:
วัตถุประสงค์สำคัญของการศึกษานี้ เพื่อศึกษา 1. ข้อเท็จจริงเกี่ยวคับประเภทและสาเหตุของการตกอยู่ในภาวะไร้สัญชาติของเด็กและเยาวชนไร้สัญชาติในประเทศไทยและจากกรณีศึกษา 2. สภาพของเด็กและเยาวชนในการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานตามสิทธิหลัก ๆ ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและแนวทางการพัฒนาตนเองเพื่อการอยู่รอดในสังคมจากกรณีศึกษา 3. ผลสืบเนื่องและผลกระทบของกรณีศึกษาต่อชุมชน ผลการวิจัยพบว่า เด็กและเยาวชนไร้สัญชาติในประเทศไทยที่เสี่ยงต่อการตกอยู่ในภาวะไร้สัญชาติ คือบุคคลที่มีบิดามารดาเป็นคนต่างด้าวใน 6 ประเภท คือ 1. ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่าที่มีถิ่นที่อยู่ถาวร 2. ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่าที่เข้ามาใช้แรงงาน 3. ผู้อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกงที่เข้ามาหลัง 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 4. ผู้หลบหนีเข้าเมืองจาก กัมพูชา 5. บุคคลบนพื้นที่สูง และ 6. ชาวเขาที่อพยพเข้ามาหลังวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2528 จนถึงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2542 โดยมีสาเหตุของการตกอยู่ในภาวะไร้สัญชาติคือการไม่ได้รับการจดทะเบียนเป็นพลเมืองของทั้งประเทศต้นทางและประเทศไทยและการไม่มีเอกสารพิสูจน์ตนใด ๆ การเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก พบว่า เด็กและเยาวชนที่เป็นกรณีศึกษาในสภาพสังคมแบบผสมคือสังคมที่มีแรงงานต่างด้าวอยู่ร่วมกับคนไทยและมีการปฏิสัมพันธ์ต่อกันในระดับหนึ่งจะมีโอกาสในการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานได้ดีกว่าเด็กและเยาวชนกรณีศึกษาในสภาพสังคมแบบชาติพันธ์เดียว คือชุมชนที่มีเฉพาะ แรงงานต่างด้าวแยกมาอยู่ร่วมกันและมีการปฏิสัมพันธ์ในระดับที่จำกัดกับชุมชนท้องถิ่นและคนไทย ผลสืบเนื่องจากสภาพชีวิตสังคมแบบผสมที่มีต่อเด็กและเยาวชนไร้สัญชาติคือ การปรับตัวด้วยการเข้าเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของสังคมท้องถิ่นเจ้าบ้าน ผลกระทบที่เกิดขึ้น คือการไม่ยึดติดวัฒนธรรมและแบบปฏิบัติของชาติพันธ์ต้นทางเดิม สำหรับผลสืบเนื่องจากสภาพชีวิตสังคมแบบชาติพันธุ์เดียวคือ ความรู้สึกเป็นคนอื่นในสังคมชัดเจนขึ้น จึงเป็น เงื่อนไขที่เอื้อแก่การเกิดอัตลักษณ์ที่หลากหลายในสังคม และเกิดวัฒนธรรมย่อยเด่นชัดขึ้น เป็นต้น