Abstract:
อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม มีพื้นที่ติดต่อกับกรุงเทพมหานคร เมืองศูนย์กลางการพัฒนาเมืองขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ และติดต่อกับจังหวัดสมุทรสาครโดยเชื่อมต่อกับเขต อุตสาหกรรมอ้อมน้อย ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จึงมีความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง และการคมนาคมขนส่งที่สะดวก ทำให้ปัจจุบันอำเภอสามพราน มีโรงงานอุตสาหกรรมมาตั้งเป็นจำนวนมาก โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 1,053 โรงงาน มีนรงงานอุตสาหกรรม 66,852 คน และภาคอุตสาหกรรมยังทำรายได้ให้กับจังหวัดนครปฐมเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้อำเภอสามพราน ยังมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งในด้านของแหล่งน้ำ และคุณภาพดิน ทำให้อำเภอสามพรานมีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ ในการปลูกผลไม้ เช่น ส้มโอ องุ่น ฝรั่ง รวมทั้งกล้วยไม้ และยังเป็นแหล่งผลิตอาหารและผลผลิตทางเกษตรกรรมที่สำคัญของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอีกด้วย จากสถานการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ภาคเกษตรกรรมเป็นโครงสร้างการผลิตพื้นฐานของอำเภอสามพราน และขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมก็เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของ อำเภอสามพราน แต่การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ทำให้การใช้ประโยชน้ที่ดินด้านอุตสาหกรรมขยายตัวอย่างกระจัดกระจาย รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่เกษตรกรรมที่มีความอุดมสมบูรณ์ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมที่เป็นแหล่งอาหารและผลผลิตทางเกษตรกรรมที่สำคัญสูญหายไป จากการศึกษาพบว่า ทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่อำเภอสามพราน มีความสำคัญและมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นจึงได้กำหนดเป้าหมายของการพัฒนาอำเภอสามพราน คือ “การรักษาพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่อุตสาหกรรม โดยให้สามารถอยู่ร่วมกันได้” และได้เสนอแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งแบ่งเป็นแผนการใช้ที่ดิน โดยการกำหนดเขตพื้นที่เกษตรกรรมและเขตอุตสาหกรรม และแผนสนับสนุนภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ แผนสนับสนุนอุตสาหกรรมการเกษตร แผนพัฒนาภาคเกษตรกรรม และแผนพัฒนาภาคอุตสาหกรรม โดยแต่ละแผนได้เสนอมาตรการต่างๆ ในการปฏิบัติงานไว้ด้วย