Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการเกิดอุบัติเหตุ ระดับชั้นและเพศของนักเรียนที่ได้รับอุบัติเหตุ ช่วงเวลาการเกิดอุบัติเหตุ อวัยวะที่ได้รับอุบัติเหตุ สถานที่เกิดอุบัติเหตุ สาเหตุและลักษณะการเกิดอุบัติเหตุ การรักษาพยาบาลนักเรียนที่ได้รับอุบัติเหตุ ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ (ฝ่ายประถม) ปีการศึกษา 2531-2534 ผู้วิจัยได้เก็บรวบรวมข้อมูลจากสมุดรายงานบันทึกอุบัติเหตุของห้องพยาบาลโรงเรียนในปีการศึกษา 2531-2534 ประชากรได้แก่นักเรียนสาธิตจุฬาฯ (ฝ่ายประถม) ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ทุกคนที่ได้รับอุบัติเหตุในโรงเรียนและมารับการรักษาที่ห้องพยาบาล ผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่และหาค่าร้อยละ ผลการวิจัยพบว่า 1. ในช่วงปีการศึกษา 2531-2534 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับนักเรียน 3906 ครั้ง คิดเฉลี่ยประมาณ 976 ครั้งต่อปี ในแต่ละปีนักเรียนมีเวลาเรียนประมาณ 190 วัน อัตราการเกิดอุบัติเหตุจึงมีประมาณวันละ 5 ครั้ง เมื่อเทียบกับจำนวนนักเรียนทั้งหมด ปรากฏว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นประมาณ 57 ครั้งต่อนักเรียน 100 คน เดือนที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด คือ เดือนธันวาคม เกิดขึ้นร้อยละ 12.52 รองลงมาคือ เดือนพฤศจิกายน ปีการศึกษาที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือ ปีการศึกษา 2532 คิดเป็นร้อยละ 65.04 ของจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมด น้อยที่สุดคือปีการศึกษา 2534 ระดับชั้นที่นักเรียนได้รับอุบัติเหตุมากที่สุด คือ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 คิดเป็นร้อยละ 91.19 ของจำนวนนักเรียนในระดับชั้นเดียวกัน รองลงมาคือระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 น้อยที่สุดคือระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และอุบัติเหตุเกิดกับนักเรียนชายมากกว่านักเรียนหญิง 2. ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด คือ ช่วงเย็นหลังเลิกเรียน คิดเป็นร้อยละ 36.41 ของจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมด 3. อวัยวะของร่างกายที่ได้รับอุบัติเหตุมากที่สุด คือ ขา คิดเป็นร้อยละ 34.54 ของจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมด รองลงมาคือ มือและแขน 4. สถานที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด คือ สนามในโรงเรียน เกิดขึ้นร้อยละ 43.75 รองลงมาคือ ห้องเรียน โถง บันได้ ทางเดิน 5. สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด คือ การขาดความระมัดระวัง เกิดขึ้นร้อยละ 86.32 ของจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมด รองลงมาคือ มีทักษะและมีประสบการณ์น้อยในการใช้อุปกรณ์และเครื่องมือ 6. ลักษณะการเกิดอุบัติเหตุ มีอุบัติเหตุธรรมดาเกิดขึ้นร้อยละ 97.88 อุบัติเหตุรุนแรงเกิดขึ้นร้อยละ 2.12 ของจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมด 7. การรักษาพยาบาล ยาที่ใช้รักษาบาดแผลมากที่สุดในอุบัติเหตุธรรมดา คือยาแดง ใช้ร้อยละ 53.15 ของอุบัติเหตุธรรมดาที่เกิดขึ้น รองลงมาคือ เบนทาดีน การรักษาอุบัติเหตุรุนแรง โรงเรียนจะนำผู้บาดเจ็บส่งคลินิกแพทย์มากที่สุดร้อยละ 71.60 ของอุบัติเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น รองลงมาคือ ผู้ปกครองพาไปรักษาเองและส่งโรงพยาบาล