Abstract:
การศึกษาเรื่องบทบาทสตรีในรามเกียรติ์ : ศึกษาเปรียบเทียบตัวละครนางสีดาของอินเดียและไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบถึงบทบาทสตรีในฐานะบุตร ภรรยาและมารดาของประเทศอินเดียและไทยผ่านตัวละครนางสีดาในเรื่องรามายณะของอินเดียและรามเกียรติ์ของไทย โดยศึกษาเปรียบเทียบถึงความเหมือนและความแตกต่างของสถานภาพทางเพศและบทบาทของสตรีในฐานะบุตร ภรรยา และมารดาในประเทศอินเดียและไทยผ่านวรรณกรรม ผู้วิจัยได้นำกรอบแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับสตรีนิยมวรรณกรรมกับสังคม และการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมมาใช้เป็นแนวทางในการศึกษา งานวิจัยฉบับนี้ได้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพเป็นแนวทางในการเก็บข้อมูล โดยมุ่งเน้นเก็บข้อมูลด้วยวิธีการรวบรวมค้นคว้าจากเอกสารเป็นหลัก จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้นำมาวิเคราะห์ผ่านตัวละครสตรี ได้แก่ นางสีดา ผลการศึกษาพบว่า บทบาทสตรีในฐานะบุตร ภรรยาและมารดาในรามายณะของทั้งสองประเทศมีลักษณะคล้ายกันเพราะการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะกฏหมายพระมนูธรรมศาสตร์ที่ไทยได้รับมาเป็นต้นฉบับของกฎหมายตราสามดวงของไทย ทำให้บทบาทสตรีในฐานะบุตร ภรรยาและมารดาคล้ายคลึงกันโดยสังคมถูกครอบงำด้วยระบบชายเป็นใหญ่(ปิตาธิปไตย)ซึ่งเป็นระบบที่มีอยู่ในสังคมของทั้งสองประเทศ ระบบดังกล่าวมีอำนาจครอบงำในทุกชนชั้นและเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้บุรุษมีอำนาจครอบงำสตรีผ่านความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ดังนั้นสตรีจึงต้องอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบบุรุษจนทำให้เกิดการแบ่งแยกทางเพศ การละเมิดทางวาจาด้วยการด่าทอ และท้ายที่สุด คือ บางครั้งการตีค่าของสตรีเป็นเพียงวัตถุทางเพศ แต่ในบางเหตุการณ์บทบาทของสตรี เช่น นางสีดาก็มีความแข็งแกร่งเห็นได้จากการปฏิเสธคำสั่งของพระรามและการใช้อำนาจในฐานะพี่สะใภ้สั่งการพระลักษมณ์ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทำให้บทบาทสตรีของอินเดียและไทยจากตัวละครในรามายณะและรามเกียรติ์แตกต่างกัน ได้แก่ ค่านิยมของสังคมชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรมประเพณีและคติความเชื่อทางศาสนาของพุทธและฮินดู