Abstract:
การศึกษาแบบการเรียนรู้ของนิสิตปริญญาตรี สาขาวิชาการศึกษานอกระบบโรงเรียน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแบบการเรียนรู้ของนิสิตปริญญาตรี สาขาวิชาการศึกษานอกระบบโรงเรียน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามแบบการเรียนรู้ของแคนฟิล (Canfield) ในด้านเงื่อนไขการเรียนรู้ ด้านเนื้อหา ด้านวิธีการเรียนรู้ และด้านความคาดหวังของผู้เรียน และเพื่อเปรียบเทียบแบบการเรียนรู้ทั้ง 4 ด้านของนิสิตสาขาวิชาการศึกษานอกระบบโรงเรียน จำแนกตามวิชาเอกที่เรียน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นแบบสอบถามจำนวน 1 ชุด ซึ่งดัดแปลงจาก Canfiled's Learning Styles Inventory ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่ นิสิตปริญญาตรี สาขาวิชาการศึกษานอกระบบโรงเรียน ภาควิชาการศึกษานอกระบบโรงเรียน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นนิสิตตั้งแต่ปี 1-ปี 4 ที่กำลังเรียนอยู่ในภาคเรียนที่ 1 ที่ลงทะเบียนเรียนประจำปี ปีการศึกษา 2538 จำนวนทั้งหมด 76 คน จำแนกเป็นวิชาเอกต่าง ๆ 4 วิชาเอก คือ เทคโนโลยีการศึกษา คอมพิวเตอร์ จิตวิทยา และภาษาอังกฤษ โดยผู้ตอบแบบสอบถามที่มีความสมบูรณ์ สามารถนำไปวิเคราะห์ข้อมูลได้จำนวน 72 ชุด คิดเป็นร้อยละ 94.74 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ผลการวิจัยพบว่า 1. ด้านเงื่อนไขนิสิตส่วนใหญ่ชอบแบบการเรียนรู้เกี่ยวกับการมีสัมพันธภาพและรองลงมาได้แก่การมีสัมฤทธิ์ผล 2. ด้านเนื้อหา นิสิตส่วนใหญ่ชอบแบบการเรียนรู้เกี่ยงกับคนและรองลงมาเกี่ยวกับสัญลักษณ์ 3. ด้านวิธีการเรียนรู้ นิสิตส่วนใหญ่ชอบแบบการเรียนรู้ที่เกี่ยวกับการแสดงสัญลักษณ์ และรองลงมาเกี่ยวกับการได้รับประสบการณ์ตรง และ 4. ด้านความคาดหวังของผู้เรียนนิสิตส่วนใหญ่ขอบแบบการเรียนรู้ที่คาดหวังระดับดีหรือระดับสูงกว่า คะแนนเฉลี่ย (B) และรองลงมาได้แก่ระดับพอใจ หรือระดับคะแนนเฉลี่ย (C) และระดับเยี่ยมหรือระดับสูงสุด (A) และยังพบว่านิสิตส่วนใหญ่ชอบแบบการเรียนรู้ที่คาดหวังระดับไม่เป็นที่พอใจหรือระดับต่ำว่าคะแนนเฉลี่ย (D) น้อยมาก นอกจากนี้ยังพบว่านิสิตที่เรียนวิชาเอกแตกต่างกันใช้แบบการเรียนรู้ด้านเงื่อนไขเกี่ยวกับการมีสัมพันธภาพ การกำหนดโครงสร้างและการแข่งขัน ด้านเนื้อหาเกี่ยวกับตัวเลข ภาษาและคน ด้านวิธีการเรียนรู้เกี่ยวกับการฟัง และการอ่าน ด้านความคาดหวังเกี่ยวกับการได้รับคะแนนระดับเยี่ยมหรือระดับสูงสุด (A) การได้รับคะแนนพอใจหรือระดับคะแนนเฉลี่ย (C) ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 นิสิตที่เรียนวิชาเอกแตกต่างกันใช้แบบการเรียนรู้ด้านเงื่อนไขเกี่ยวกับการมีสัมฤทธิ์ผล ด้านเนื้อหาเกี่ยวกับสัญลักษณ์ ด้านวิธีการเรียนรู้เกี่ยวกับการแสดงสัญลักษณ์ และการได้รับประสบการณ์ตรงด้านความคาดหวังเกี่ยวกับการได้รับคะแนนระดับไม่เป็นที่พอใจหรือระดับต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ย (D) แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05