Abstract:
วัตถุประสงค์ของการวิจัย: การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษานำ (Pilot Study) เพื่อประเมินผลการเรียนรายวิชาที่บริหารการสอนโดยโครงการการศึกษาทั่วไป จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในภาคปลาย ปีการศึกษา 2537-2538 และมีวัตถุประสงค์ของการวิจัย 4 ประการ คือ 1) เพื่อพัฒนาเครื่องมือสำหรับวัดและประเมินผลการเรียนรายวิชาที่บริหารการสอนโดยโครงการการศึกษาทั่วไป 2) เพื่อศึกษาภูมิหลังของนิสิตที่เรียนรายวิชาที่บริหารการสอนโดยโครงการการศึกษาทั่วไปในภาคปลาย ปีการศึกษา 2537-2538 3) เพื่อประเมินสถานภาพการเรียนของนิสิตในภาพรวมของทุกรายวิชาที่บริหารการสอนโดยโครงการการศึกษาทั่วไป และ 4) เพื่อประเมินผลการเรียนของนิสตแต่ละรายวิชาที่เปิดสอนในภาคปลาย ปีการศึกษา 2537-2538 วิธีวิจัย: ผู้วิจัยใช้เครื่องมือที่เป็นแบบวัดและประเมินผลรายวิชาที่ได้พัฒนาขึ้นมาจากเอกสารตำราและรายงานวิจัยต่างๆ ไปให้นิสิตที่เรียนรายวิชาต่าง ๆที่บริหารการสอนโดยโครงการการศึกษาทั่วไปที่เปิดสอนในภาคปลาย ปีการศึกษา 2537-2538 จำนวน 10 รายวิชา ได้รับแบบประเมินกลับคืนจำนวน 424 ชุดคิดเป็นร้อยละ 86 ของจำนวนผู้เข้าเรียนทั้งหมด ข้อมูลที่ได้รับถูกนำไปวิเคราะห์โดยใช้ค่าสถิติ สัมประสิทธิ์ความเที่ยงแบบอัลฟ่า (Alpha Reliability Coefficient) ความถี่ (Frequency) ร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) การวิเคราะห์องค์ประกอบ (Factor Analysis) การทดสอบค่าที (t-test) และ สหสัมพันธ์ถดถอยพหุคูณแบบสเต็ปไวท์ (Multiple Regression Correlation-Stepwise) ผลการวิเคราะห์ได้นำเสนอในรูปตารางประกอบการอธิบาย ผลการวิจัย: 1. เครื่องมือที่ใช้วัดและประเมินผลการเรียน มีค่าสัมประสิทธิ์ความเที่ยงแบบอัลฟ่าในแต่ละรายวิชาอยู่ระหว่าง 0.8532 ถึง 0.9175 และรวมทุกวิชาเป็น 0.8926 2. นิสิตทั้งหมดที่เรียนรายวิชาของโครงการการศึกษาทั่วไปในภาคปลายปีการศึกษา 2537-2538 มาจาก 11 คณะในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนิสิตหญิงร้อยละ 60 นิสิตส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร บิดามารดาประกอบอาชีพค้าขายมีรายได้มากกว่า 30,000 บาทต่อเดือนและนิสิตได้รับค่าใช้จ่ายขณะศึกษาต่อเดือนโดยเฉลี่ย 3,00 บาท สำหรับพฤติกรรมการเรียนของนิสิตต่อสัปดาห์พบว่า นิสิตส่วนมากใช้เวลาทบทวนบทเรียนเฉลี่ย 8 ชั่วโมง ใช้เวลาฟังวิทยุและดูโทรทัศน์ 15 ชั่วโมง และใช้เวลาทำรายงานที่ผู้สอนมอบหมาย 8 ชั่วโมง 3. องค์ประกอบเกี่ยวกับภูมิหลังของนิสิตกลุ่มนี้ที่สำคัญมีอยู่ 7 ด้าน คือ ภูมิลำเนา การใช้เวลา เพศและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในมหาวิทยาลัย อาชีพผู้ปกครอง อายุและจำนวน ญาติพี่น้อง ค่าใช้จ่ายขณะศึกษา และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 4. คะแนนเฉลี่ยสะสมในขณะศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย (GPAX) ของนิสิตกลุ่มนี้ ได้รับอิทธิพลมาจากตัวแปรสำคัญ 3 ตัวแปร คือ เพศ จำนวนหน่วยกิตที่ลงทะเบียนในแต่ละภาพการศึกษา และคะแนนเฉลี่ยสะสมในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยทั้งสามตัวแปรสามารถอธิบายความแปรปรวนต่อคะแนนเฉลี่ยสะสมในขณะศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยได้ร้อยละ 9.07 และมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 5. ผลการประเมินผลการเรียนในภาพรวมพบว่า มีการเน้นรายการต่าง ๆ อยู่ในระดับมากขึ้นไปดังนี้ ความรู้ในแนวกว้าง การทำงานเป็นกลุ่ม ความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย การบรรยาย และความยุติธรรมในการทดสอบหรืองานที่ได้รับมอบหมาย 6. ผลการประเมินผลในแต่ละรายวิชาพบว่า มีอยู่ 6 รายวิชา (จากทั้งหมด 10 รายวิชา ที่ประเมิน) ประสบผลสำเร็จทางการเรียนการสอนอยู่ในระดับสูง วิชาดังกล่าว คือ 093 201 บัณฑิตอุดมคติ 1 093 203 บัณฑิตอุดมคติ 3 093 204 บัณฑิตอุดมคติ 4 093 205 บัณฑิตอุดมคติ 5 093 160 มนุษย์กับธรรมชาติ และ 093 230 มนุษย์กับสันติภาพ วิชาดังกล่าวส่วนมากจะเน้นรายการต่อไปนี้คือ ความรู้ในแนวกว้าง ความรู้ในแนวลึก กระบวนการแสวงหาความรู้ การทำงานเป็นกลุ่ม ตรงต่อเวลา ความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย ความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาบุคลิกภาพของผู้เรียน วางแผน และกระบวนการแก้ปัญหา สำหรับวิธีการสอนของวิชาเหล่านี้ส่วนมากจะใช้การสอบแบบอภิปราย การปฏิบัติ และมีการเร้าให้ผู้เรียนมีการตื่นตัวต่อการเรียนอยู่เสมอ 7. นิสิตส่วนใหญ่มีความพึงพอใจมากับวิชาที่เรียนมาแล้ว ตัวแปรสำคัญที่ทำให้นิสิตมีความพึงพอใจถึงร้อยละ 53.11 และมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.5 มีอยู่ 10 ตัวแปร สำหรับตัวแปรที่สำคัญที่สุดได้แก่ ความสนุกสนานเป็นกันเองในขณะเรียน ตัวแปรนี้เพียงตัวแปรเดียวสามารถอธิบายความแปรปรวนต่อความพึงพอใจของนิสิตได้ร้อยละ 25354 และมีนัยสำคัญที่ระดับ .05