Abstract:
เมืองที่มีคูน้ำโบราณหรือเมืองที่ล้อมรอบด้วยคูน้ำโบราณ คือเมืองหรือชุมชนเก่าซึ่งได้มีการขุดคูน้ำล้อมรอบโดยฝีมือของมนุษย์เพื่อประโยชน์ในการใช้สอย การป้องกันตัว และเหตุผลอื่นๆ โดยในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นได้มีการศึกษารวบรวมข้อมูลและนิยามเมืองที่มีคูน้ำโบราณไว้ทั้งหมด 297 แห่งด้วยกัน ด้วยวิธีการศึกษาจากภาพถ่ายทางอากาศ ภาพถ่ายดาวเทียม และการลงศึกษาพื้นที่ ซึ่งการศึกษาในครั้งนี้ได้นำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์โดยมีจุดประสงค์ในการศึกษาอยู่ 2 ประการคือ 1) คาดการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองที่มีคูน้ำโบราณและพิบัติภัย โดยการนำข้อมูลความสูง ขนาด และจำนวนชั้นของคูน้ำของเมืองที่มีคูน้ำโบราณทั้ง 297 แห่ง มาเปรียบเทียบลำดับชั้นน้ำและระยะห่างจากแม่น้ำใกล้เคียง 2) ศึกษาเส้นทางการคมนาคมจากการหาความสัมพันธ์ระหว่างเมืองที่มีคูน้ำโบราณและช่องเขาซึ่งเชื่อมต่อระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือประเทศไทยกับประเทศเขมร เพื่อศึกษาว่าช่องเขาใดมีความเหมาะสมมากที่สุดที่จะเป็นช่องทางการคมนาคมหลักระหว่างทั้งสองพื้นที่ ผลการศึกษาสรุปว่าชุมชนเก่าในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือนั้นมีการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมตามถิ่นฐานที่อาศัยโดยการถมพื้นที่ภายในคูน้ำในลักษณะเนินดินเพื่อเป็นการป้องกันน้ำท่วม โดยชุมชนเก่าที่อยู่ในบริเวณที่ราบน้ำท่วมถึงนั้นจะพบเนินดินที่มีความสูงโดยเฉลี่ยสูงกว่าความสูงเนินดินของชุมชนในบริเวณตะพักลำน้ำเพื่อเป็นการป้องกันพิบัติภัยจากน้ำท่วมที่มีความรุนแรงต่างกัน นอกจากนั้นจากการวิเคราะห์ระยะทางระหว่างเมืองที่มีคูน้ำโบราณแต่ละแห่งและช่องเขาสรุปได้ว่าเส้นทางที่มีความเหมาะสมที่จะใช้เป็นเส้นทางการติดต่อเดินทางระหว่างทั้งสองพื้นที่ คือช่องเขาตาเมือนและช่องเขากร่าง ซึ่งทั้งสองช่องเขานั้นตั้งอยู่บนบริเวณเดียวกันกับที่เส้นทางราชมรรคาที่เคยใช้ในการติดต่อเดินทางระหว่างพิมายและนครวัดพาดผ่าน