Abstract:
แร่ดีบุกที่เกิดในประเทศไทยส่วนใหญ่ได้มาจากสินแร่แคสซิเทอไรต์ (Cassiterite) เกิดอยู่ในสายแร่แบบน้าร้อนที่แทรกในหินแกรนิตหรือหินตะกอนข้างเคียง สินแร่แคสซิเทอไรต์มักเกิดร่วมกับแร่อาร์ซิโนไพไรต์ แร่ชาร์ลโคไพไรต์และแร่อื่น ๆ เมื่อมีการทำเหมืองแร่ดีบุกจึงมีการทิ้งเพื่อนแร่เหล่านี้เป็นกากแร่ ทำให้สารหนูกระจายสู่สิ่งแวดล้อมเมื่อแร่อาร์ซิโนไพไรต์เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น การศึกษาการปนเปื้อนในพื้นที่เหมืองดีบุกเก่า ตำบลองค์พระ อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ประยุกต์ใช้การสำรวจสภาพต้านทานไฟฟ้ากับการวิเคราะห์อุทกธรณีเคมีของน้ำบาดาลและดินในพื้นที่เพื่อระบุขอบเขตการปนเปื้อนของมลสาร การสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ใช้วิธีการสำรวจสภาพต้านทานไฟฟ้าแบบ 1 มิติ วางขั้วไฟฟ้าแบบชรัมเบอร์แจร์ (Schlumberger array) ทำการสำรวจทั้งหมด 12 จุด และนำมาประมวลผลด้วยโปรแกรม IPI2Win เพื่อสร้างภาพตัดขวางแสดงชั้นใต้ผิวดิน ซึ่งพบว่าพื้นที่ศึกษาประกอบด้วยชั้นใต้ผิวดิน 3 ชั้น ชั้นแรกเป็นดินเหนียว (Clay) ความลึกตั้งแต่ 0-10 เมตร ชั้นที่สองเป็นตะกอนหยาบ (Gravel) มีความลึก 10-25 เมตร และชั้นที่สามเป็นหินปูน มีความลึกมากกว่า 25 เมตร การวัดระดับน้ำจากบ่อบาดาลระดับตื้นและบ่อบาดาลระดับลึกบอกได้ว่า น้ำบาดาลไหลจากพื้นที่เติมน้ำ (ภูเขา) ทางตะวันตกเฉียงเหนือไปยังพื้นที่ต่ำกว่าทางใต้ สำหรับการเก็บตัวอย่างเพื่อวิเคราะห์เคมีทาการเก็บตัวอย่างน้ำบาดาลระดับตื้น 7 บ่อ น้ำบาดาลระดับลึก 7 บ่อและน้ำผิวดิน 1 จุด นอกจากนี้ยังเก็บตัวอย่างดิน 6 จุด พบว่าน้ำบาดาลระดับตื้นมีความเข้มข้นของสารหนู 0.406-5.409 μg/L บ่อที่มีความเข้มข้นสูงที่สุดคือบ่อ w3 อยู่ห่างจากเหมืองดีบุกไปทางท้ายน้ำ 1.2 กิโลเมตร แต่ยังไม่เกินค่ามาตรฐานน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้ที่ 10 μg/L ในขณะที่น้ำผิวดินซึ่งเก็บตัวอย่างจากบ่อเก็บกากแร่เก่ามีค่าความเข้มข้นของสารหนู 23.66 μg/L ซึ่งเกินมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก สำหรับตัวอย่างดินพบว่ามีความเข้มข้นของสารหนูมากที่สุดคือ 911.88 mg/kg ในจุดที่ห่างจากเหมือง 0.5 กิโลเมตร และดินที่มีความเข้มข้นของสารหนูน้อยที่สุดมีความเข้มข้น 10.29 mg/kg ห่างจากเหมืองดีบุกเก่าประมาณ 2.16 กิโลเมตร จากการศึกษาสามารถสรุปได้ว่าผลลัพธ์ของธรณีฟิสิกส์ไม่สามารถใช้ในการระบุขอบเขตการปนเปื้อนของสารหนูในน้ำบาดาลได้อย่างสมบูรณ์ แต่การสำรวจทางธรณีฟิสิกส์สามารถใช้เพื่ออธิบายการไหลของน้ำบาดาลและใช้ร่วมกับข้อมูลอุทกธรณีเคมีเพื่ออธิบายพื้นที่ปนเปื้อนที่เป็นไปได้