Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ศึกษาฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไลเปสและแอลฟากลูโคซิเดสของสารสกัดเอทิลแอซิเตตและสารสกัดเมทานอลจากเห็ดตับเต่า คือ และแยกสารออกฤทธิ์ดังกล่าวด้วยเทคนิคทางโครมาโทกราฟี สารสกัดเอทิลแอซิเตตที่ความเข้มข้น 25 mg/mL มีค่าการยับยั้งเอนไซม์ไลเปส 78 % และที่ความเข้มข้น 1 mg/mL มีค่าการยับยั้งเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดส 20 % ส่วนสารสกัดเมทานอลที่ความเข้มข้น 25 mg/mL มีค่าการยับยั้งเอนไซม์ไลเปส 99 % และที่ความเข้มข้น 10 mg/mL มีค่าการยับยั้งเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดส 38 % นั่นคือ สารสกัดเมทานอลมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไลเปสมากกว่าสารสกัดเอทิลแอซิเตต แต่สารสกัดเอทิลแอซิเตตมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดสมากกว่าสารสกัดเมทานอล นอกจากนี้ได้นำสารสกัดทั้งสองมาทดสอบการเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งทั้ง 5 ชนิดและเซลล์ปกติ (fibroblast cell) พบว่าสารสกัดเอทิลอะซิเตตมีฤทธิ์การยับยั้งเซลล์มะเร็งปอด (Chago-K1) และตับ (Hep-G2) โดยมีฤทธิ์การยับยั้งเซลล์มะเร็งปอด IC₅₀ เท่ากับ 32 และ 40 μg/mL ตามลำดับ และกากของส่วนสกัดหยาบเมทานอลมีฤทธิ์การยับยั้งเซลล์มะเร็งปอด IC₅₀ เท่ากับ 79 μg/mL การแยกสารบริสุทธิ์จากสกัดเอทิลแอซิเตตโดยเทคนิคโครมาโทกราฟีแบบคอลัมน์ (column chromatography)ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากความไม่คงสภาพของสารในขั้นตอนการแยก อย่างไรก็ตาม จาก 1H-NMR spectroscopy บ่งชี้ว่าสารสกัดเอทิลอะซิเตตประกอบด้วยสารในกลุ่มเทอร์พีนอยด์และสเตียรอยด์ (terpenoid and steroid compounds)