Abstract:
ผู้วิจัยสังเคราะห์โมเลกุลเซ็นเซอร์ histamine blue ผ่านปฏิกิริยาเมโซไอออนิกจาก ไอโซควิโนลีน, ไตรฟลูออโรแอซิดแอนไฮไดรด์ และเมทิลไอโซไซยาโนอะซีเตต มีร้อยละผลิตภัณฑ์เป็น 23 เพื่อใช้ในการวิเคราะห์สารประกอบเอมีนทางชีวภาพสองชนิดคือ ฮิสทามีนและฮิสทิดีนด้วยเทคนิคฟลูออเรสเซนต์สเปกโตรโฟโตเมตรี พบว่า histamine blue ให้สัญญาณฟลูออเรสเซนต์ที่ 400 นาโนเมตร เมื่อในระบบมีฮิสทามีนหรือฮิสทิดีน สัญญาณฟลูออเรสเซนต์จะเคลื่อนไปยังตำแหน่ง 410 นาโนเมตร โดยผลจากสเปกตรัมของสารประกอบทั้งสองชนิดเหมือนกัน histamine blue จึงไม่สามารถใช้ในการวิเคราะห์หาเอมีนทางชีวภาพชนิดใดชนิดหนึ่งได้อย่างจำเพาะเจาะจง ดังนั้น ผู้วิจัยได้ออกแบบโมเลกุล NapIm2 และ NapIm3 โดยฮิสทิดีนซึ่งมีหมู่คาร์บอกซิเลตจะสามารถจับกับ NapIm3 เมื่อให้พลังงานกระตุ้นที่ 340 นาโนเมตร จะพบสัญญาณฟลูออเรสเซนต์ของ NapIm3 ที่ 525 นาโนเมตร ในขณะที่ฮิสทามีนซึ่งไม่มีหมู่คาร์บอกซิเลตจะไม่พบการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น histamine blue สามารถใช้ในการจำแนกฮิสทามีนและฮิสทิดีนจากเอมีนทางชีวภาพชนิดอื่น จากนั้นใช้ NapIm3 แยกจับกับฮิสทิดีน ดังนั้นการใช้เซ็นเซอร์ทั้งสองชนิดจะช่วยทำให้สามารถแยกการตรวจวัดฮิสทิดีนและฮิสทามีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ