Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้วิเคราะห์แนวคิดเรื่องอำนาจในวรรณกรรม :ศึกษากรณีท้าวรุ่ง ท้าวเจือง โดยการศึกษาลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมและการวิเคราะห์แนวคิดเรื่องอำนาจในวรรณกรรม ผ่านการมองแนวคิดวาทกรรมเรื่องอำนาจเชิงพื้นที่ และอำนาจเชิงภาษา โดยใช้ วรรณกรรม 4 ฉบับคือ (1) วรรณกรรมฉบับล้านนา (2) วรรณกรรมฉบับล้านช้าง (3) วรรณกรรมเงินยางเชียงแสนฉบับที่ 1 และ (4) วรรณกรรมเงินยางเชียงแสนฉบับที่ 2 วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมผ่านวรรณกรรมท้าวรุ่ง ท้าวเจือง ผลสรุปที่ได้คือ ในอดีตดินแดนล้านนา ล้านช้าง มีการตั้งถิ่นฐานเป็นเมือง สังคมเป็นสังคมชนชั้น มีทั้งชนชั้นปกครองและชนชั้นผู้ถูกปกครอง มีการแต่งงานระหว่างชนชั้นปกครอง เพื่อเป็นการรักษาฐานอำนาจ ตลอดจนมีความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง เป็นสังคมเกษตรกรรม ชาวบ้านมีความเชื่อเรื่องโชคชะตา ส่วนการศึกษาแนวคิดเรื่องอำนาจในวรรณกรรมโดยการศึกษา อำนาจเชิงพื้นที่ และอำนาจเชิงภาษา พบว่าวรรณกรรมท้าวรุ่ง ท้าวเจือง มิใช่เพียงเป็นวรรณกรรมเพื่อให้ความบันเทิงเพียงอย่างเดียว แต่ยังแฝงด้วยอำนาจที่ถูกสร้างผ่านวาทกรรมว่าด้วยความจริงทางประวัติศาสตร์ วาทกรรมทางพื้นที่ วาทกรรมทางภาษา ซึ่งวรรณกรรมเรื่องนี้อาจเป็นเรื่องจริงทางประวัติศาสตร์หรืออาจจะเป็นเพียงการสร้างวาทกรรมชุดหนึ่งผ่านตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ของบุคคลนามว่ารุ่งหรือเจือง วีรบุรุษสองฝังโขง