Abstract:
การวิจัยดนตรีพิธีกรรมผีฟ้าอีสานเหนือมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพความเชื่อท้องถิ่นที่ทำให้เกิดพิธีกรรมผีฟ้า ศึกษาขั้นตอนการประกอบพิธีกรรมผีฟ้า และการศึกษาวิเคราะห์องค์ประกอบของพิธีกรรมเพลงที่ใช้ในพิธีกรรมผีฟ้า วิธีการบรรเลงดนตรีในพิธีกรรมรวมไปถึงความสัมพันธ์ในการใช้เพลงประกอบพิธีกรรม ผลการวิจัยจากการเก็บข้อมูลตามศูนย์วัฒนธรรมในจังหวัดต่าง ๆ ในอีสานตอนเหนือทั้ง ๑๔ จังหวัด พบว่ามีอยู่ ๗ จังหวัดที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในอีสานตอนเหนือ คือ สกลนคร มุกดาหาร นครพนม อุดรธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น และชัยภูมิ จากการได้เช้าไปร่วมสังเกตการในพิธีกรรมผีฟ้าทั้ง ๗ จังหวัด พบว่าเครื่องดนตรีที่ใช้ในพิธีกรรมนั้นส่วนมากเป็น แคน และบทร้องเป็นทำนองซึ่งทำนองนันก็เป็นทำนอง หมอลำ ซึ่งเรียกว่า การลำล่อง เป็นการร้องในเชิงของการอ้อนวอนยกย่องผีหรือสิ่งศักดิสทธิเพื่อให้ช่วยเหลือผู้ที่กำลังมีทุกข์ โดยจะมีร่างทรงนั้นเป็นผู้ร้อง และจะร้องเคล้ากันกับเสียงแคนตลอดตั้งแต่เริ่มพิธีจนเสร็จพิธี และจะมีการเสี่ยงทายเพื่อเป็นการหาสาเหตุของการเจ็บป่วยหรือความทุกข์ ซึ่งทั้งหมดนั้นพบความแตกต่างในเรื่องของคำร้องซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล แต่ลายที่ใช้ในการบรรเลงนั้นมีความเหมือนกันอยู่บ้างในบางจังหวัด ซึ่งลายที่ใช้ในพิธีกรรมผีฟ้าทั้งหมด ๗ จังหวัดได้แก่ ลายแมลงภู่ตอมดอกไม้ ลายภูไท ลายโป้ซ้าย ลายสร้อย ลายสุดสะแนน ซึ่งลายเหล่านี้ใช้บรรเลงในพิธีกรรมผีฟ้าทั้งสิ้นและมีอยู่หนึ่งพิธีกรรมที่จะใช้การร้องน้อยที่สุดและใช้ดนตรีเป็นส่วนมากคือ พิธีกรรมการเลี้ยงผีของชาวกาฬสินธุ์ ซึ่งจะใช้ดนตรีมากกว่าการร้องเพราะเป็นการเลี้ยงผีหรือสิ่งศักดิ์เหนือธรรมชาติ