Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ เป็นการศึกษาวัจนกรรมการบริภาษในภาษาไทย โดยใช้ข้อมูลจากบทสนทนาในนวนิยาย และบทสนทนาในชีวิตจริง ซึ่งผู้วิจัยเป็นผู้ร่วมเหตุการณ์และผู้สังเกตการณ์ ผลการศึกษาพบว่า ผู้บริภาษในภาษาไทยใช้กลวิธีการบริภาษ ๓ กลวิธี คือ ๑) กลวิธีการบริภาษแบบตรงไปตรงมา ซึ่งได้แก่ การบริภาษด้วยคำหยาบ และ การบริภาษด้วยคำที่มีความหมายทางลบ ๒) กลวิธีการบริภาษแบบอ้อม ซึ่งประกอบด้วย ๕วิธี คือ การใช้ถ้อยคำนัยผกผัน การใช้ความเปรียบ การใช้คำรื่นหู การบริภาษแบบไม่เจาะจงเป้าหมาย และการแสร้งบริภาษสงอื่น และ ๓) กลวิธีเสริมการบริภาษ ซึ่งได้แก่ การใช้คำหยาบที่มีนัยเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง และการใช้คำอุทานเพื่อแสดงความรู้สึกทางลบ ถ้อยคำบริภาษสะท้อนให้เห็นค่านิยมบางประการในสังคมไทย เช่น การไม่เคารพ เชื่อฟังผู้อาวุโส การว่าร้ายผู้อื่น เป็นพฤติกรรมที่สังคมไม่ยอมรับ การมีสติปัญญาน้อยหรือผิวคล้ำถือว่าด้อยในสังคมไทย เป็นต้น ส่วนผลของการบริภาษที่เกิดขึ้นกับผู้ถูกบริภาษนั้นพบว่า กลวิธีการบริภาษต่างๆ นั้นสามารถส่งผลกระทบแก่ผู้ถูกบริภาษใน ๓ ลักษณะ คือ การแสดงว่าผู้ถูกบริภาษไม่ได้รับความเคารพจากผู้บริภาษ แสดง ว่าผู้ถูกบริภาษเป็นผู้ที่สังคมไม่ยอมรับ และกีดกันผู้ถูกบริภาษออกจากกลุ่ม