Abstract:
วิธีการศึกษา เก็บตัวอย่างเลือดจากมารดากลุ่มเลือดโอ และเลือดจากรกของเด็กแรกคลอดครบกำหนด จำนวน 66 รายเพื่อส่งตรวจกลุ่มเลือดเอบีโอ, อาร์ เอช, DCT, CBC และภาวะพร่องเอนไซม์จี 6 พีดี ทารกที่มารดากลุ่มเลือดโอ จะได้รับการตรวจร่างกายและวัดระดับบิลิรูบินโดยเครื่องมือวัดผ่านผิวหนัง 2 ครั้ง ภายใน 24 ชม. และ 48 ชม. และตรวจระดับแอนติบดีต่อกลุ่มเลือดเอบีโอในเลือดมารดาต่อไปถ้าทารกมีกลุ่มเลือดเอหรือบี ทารกที่มีภาวะระดับบิลิรูบินสูงผิดปรกติจะได้รับการรักษาด้วยการส่องไฟทันทีที่มีข้อบ่งชี้ ผลการศึกษา มารดากลุ่มเลือดโอ ที่เข้าตามเกณฑ์การคัดเลือก 66 ราย ให้กำเนิดทารกกลุ่มเลือดโอ 31 ราย (ร้อยละ 47), กลุ่มเลือดเอ 13 ราย (ร้อยละ 20) และกลุ่มเลือดบี 22 ราย (ร้อยละ 33) ระดับฮีโมโกลบินเฉลี่ยเลือดจากรก = 15.40 ± 1.92 กรัม/ดล. ระดับฮีโมโกลบินเฉลี่ยของทารกกลุ่มเลือดโอ เทียบกับทารกกลุ่มเลือดเอหรือบีไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ค่าเฉลี่ยฮีโมโกลบิน 15.40 ± 1.89, 15.53 ± 1.99 กรัม/ดล. , P = 0.807) ระดับบิลิรูบินเฉลี่ยขณะอายุ 0 – 24, 24 – 48 ซม. = 5.75 ± 2.11, 8.39 ± 2.85 มก./ดล. ตามลกดับ ทารก 15 ราย (ร้อยละ 22.7) มีภาวะระดับบิลิรูบินสูงผิดปรกติ ซึ่งเป็นทารกกลุ่มเลือดเอหรือบี 13 ราย (ร้อยละ 37 ของทารกกลุ่มเลือดเอหรือบี) ซึ่ง 12 ราย (ร้อยละ 92 ของทารกกลุ่มเลือดเอหรือบี ที่มีระดับบิลิรูบินสูงผิดปรกติ) มีข้อบ่งชี้ต้องทำการรักษาด้วยวิธีส่องไฟ ทารกกลุ่มเลือดโอ 2 ราย มีระดับบิลิรูบินสูงผิดปรกติ แต่ไม่ต้องการการรักษาใด ๆ ทารกที่กลุ่มเลือดเอหรือบี เสี่ยงต่อการเกิดภาวะระดับบิลิรูบินสูงผิดปรกติเป็น 5.6 เท่าของทารกกลุ่มเลือดโอ ค่าความเชื่อมั่น 95% อยู่ระหว่าง 1.41 ถึง 23.52 เท่า และถ้าทารกกลุ่มเลือดเอหรือบี นี้มีฮีโมโกลบิน < 15 กรัม/ดล. จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะระดับบิลิรูบินสูงผิดปรกติ 2.97 เท่าของทารกกลุ่มเลือดเอหรือบี ที่มีโอโมโกลบิน ≥ 15 กรัม/ดล. ค่าความเชื่อมั่น 95% อยู่ระหว่าง 1.07 ถึง 8.26 เท่า ไม่พบว่าทารกที่คลอดจากมารดาที่มีระดับแอนติบอดีเอบีโอ ≤ 1:32 มีภาวะบิลิรูบินสูงผิดปรกติ ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างการตรวจพบ DCT ในเลือดจากรกให้ผลบวกกับการเกิดภาวะบิลิรูบินสูงผิดปรกติ ในการศึกษานี้ไม่สามารถสรุปได้เนื่องจากมีจำนวนตัวอย่างเพียง 26 ราย ผลสรุป ทารกกลุ่มเลือดเอหรือบี ที่คลอดจากมารดากลุ่มเลือดโอ และมีฮีโมโกลบินในเลือดจากรก < 15 กรัม/ดล. เสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะระดับบิลิรูบินสูงผิดปรกติ การตรวจเลือดจากรกอาจมีความสำคัญในการตรวจหาทารกกลุ่มเลือดเสี่ยงต่อภาวะระดับบิลิรูบินสูงผิดปรกติ