Abstract:
สถาบันทหารเป็นสถาบันที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ นับตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ริเริ่มมีกองทัพประจำการของประเทศ สถาบันทหารกลายเป็นสถาบันหลักที่ขึ้นมาท้าทายอำนาจ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เดิมภายใต้การเปลี่ยนแปลงของกระแสลัทธิทางการเมืองของโลก จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง พ.ศ. 2475 กลุ่มกำลังผลักดันหลักกลุ่มหนึ่งที่สำคัญ คือ ทหาร ส่งผลให้ระบอบประชาธิปไตยไทยพัฒนาควบคู่มากับบทบาททหาร หลังจากนั้นทหารก็มีบทบาทอิทธิพลต่อของรัฐบาลมาโดยตลอด ถึงแม้ว่าสภาพการณ์ ความคิด ทั่งที่เกิดจากการรับรู้ หรือ ถูกสร้างขึ้นมาจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยก็ตาม ทหารก็มีบทบาทที่จะคํ้าจุนความมั่นคงของรัฐบาล ทั่งโดยเปิดเผย และทางอ้อม การยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 จึงเป็นอีกครั้งหนึ่งของความพยายามเข้ามามีบทบาททางการเมืองของทหาร ที่เริ่มต้นด้วยการอ้างความชอบธรรมทางการเมืองจากความล้มเหลว และไม่สามารถแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ต่อมาก็สร้างความชอบธรรมในรูปแบบต่าง ๆ เพิ่มปริมาณการเข้ามามีบทบาททางการเมือง และรอคอยเพื่อจะสร้างจังหวะที่เหมาะสมในการเข้ามามีบทบาททางการเมืองโดยตรงด้วยการเป็นผู้นำรัฐบาล ซึ่งในช่วงระยะเวลาระหว่าง 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 - 7 เมษายน พ.ศ. 2535 ทหารพยายามสร้างความชอบธรรมเชิงกฎหมาย เพื่อนำมาเป็นความชอบธรรมทางการเมืองเข้าสู่อำนาจการปกครองประเทศ แต่ว่าการจะใช้กฎหมายปกครองประเทศโดยอาศัยอำนาจผลักดันหรือกำลังจากกองทัพอย่างที่ รสช.ทำนั้นไม่เพียงพออีกแล้ว การเข้าสู่อำนาจการปกครองยังต้องอาศัยการยอมรับจากฝ่ายต่าง ๆ เพื่อเป็นความชอบธรรมอันเนื่องมาจากบริบทสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป สิ่งเหล่านี้ชี้ผลสำเร็จ และความล้มเหลวของการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองในการที่จะคงอยู่ในอำนาจการปกครองประเทศได้ ท้ายที่สุดคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติต้องลงจากอำนาจ โดยผู้นำคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติต้องลาออกจากการเป็นผู้นำรัฐบาลในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 นับเป็นการสิ้นสุดอำนาจการปกครองประเทศของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ และชี้ให้เห็นว่าปฏิกิริยารวมของการไม่ยอมรับนำไปสู่ผลของความไม่ชอบธรรมทางการเมืองในที่สุด