Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาความเป็นมา องค์ประกอบ รวมทั้งกลวิธีการรำเข้าพระเข้านางในการแสดงละคร โดยศึกษาจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ ผู้แสดง นักดนตรี การสังเกตการแสดง การฝึกหัดรำและประสบการณ์แสดงของผู้วิจัย ผลการศึกษาพบว่า การรำเข้าพระเข้านาง หรือการรำเกี้ยวพาราสี เป็นการรำที่มาจากพฤติกรรมในชีวิตจริงของมนุษย์ ที่กวีนิยมนำไปสอดแทรกในวรรณกรรมโบราณ เนื่องจากการแสดงต้องอาศัยโครงเรื่องจากวรรณกรรม จึงทำให้บทรักดังกล่าวแพร่หลายเข้ามาสู่ละครทุกประเภทตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน จากการศึกษาการแสดงรำเข้าพระเข้านางทั้ง 4 ชุด มีการแบ่งขั้นตอนการแสดงออกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ รำบทเกริ่นเพียง 1 บท คือ รำบทชมโฉม รำบทตัดพ้อ รำบทลักลอบ รำบทคิดคำนึง ขั้นตอนที่ 2 รำบทเข้าพระเข้านาง หรือเกี้ยวพาราสี ขั้นตอนที่ 3 รำบทสังวาสแล้วจากลำ รำบทเกริ่นเน้นที่บทบาทของตัวพระโดยรำใช้บท การแสดงขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ รำบทเข้าพระนางเป็นการรำแบบประชิดตัว รุกเร้า แต่นุ่มนวล ตัวนาง รำแบบปัดป้องในที เน้นการใช้อวัยวะแนบชิดกัน ได้แก่ การจับมือ การลูบหน้า การถูเบาๆ ที่ตัก การนั่งในตำแหน่งที่เหลี่อมซ้อนกัน การโน้มลำตัวไปด้านข้าง พร้อมกับการแสดงอารมณ์ทางสีหน้าของทั้งสองฝ่าย คือการยิ้มแบบกรุ้มกริ่ม กับยิ้มแบบเอียงอายหลบสายตา และแบบไม่พอใจด้วยการควักค้อน มีการรำใช้บททั้งประกอบบทร้องและประกอบทำนองเพลง โดยใช้ท่ารำมาตรฐานเป็นหลักแล้วเพิ่มเติมจริตกิริยาของคู่รัก สอดแทรกลงไปในท่ารำให้เป็นท่ารำแบบสมจริง
ถ้าเป็นการยืนรำจะมีอิสระในการเคลื่อนไหวทิศทาง ได้มากกว่าการนั่งรำ รำบทสังวาสแล้วจากลา ไม่มีการแสดงท่ารำเพราะเป็นบทที่เข้าใจกันโดยปริยาย บทนี้อาจมีหรือไม่มีก็ได้ แต่จะเน้นที่การจากลากันด้วยความอาลัยรัก และแสดงอารมณ์โศกเศร้าของทั้งสองฝ่าย ในที่สุดฝ่ายชายเป็นผู้ตัดสินใจลาจากไป มีการเปลี่ยนทำนองเพลงทั้ง 3 ช่วง ให้เหมาะสมกับเหตุการณ์และอารมณ์ของผู้แสดงในส่วนพระองค์ประกอบอื่นๆ เป็นส่วนเสริมแต่งให้การแสดงสมบูรณ์ แม้ว่าจะขาดองค์ประกอบบางอย่าง เช่นฉาก ก็สามารถแสดงได้โดยไม่ทำให้การแสดงขาดอรรถรสแต่ประการใด กล่าวได้ว่าการรำเข้าพระเข้านาง เป็นองค์ความรู้ทางนาฏยศิลป์มาตรฐานแบบหลวงที่นาฏยศิลปินและนักวิชาการต้องนำไปใช้ประโยชน์ในการสอน การแสดง และการวิจัย ด้วยเหตุนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุนให้มีการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ในโอกาสต่อไป