Abstract:
วัตถุประสงค์สำคัญของการวิจัยครั้งนี้คือ 1. เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบสภาพการวิจัยทางการศึกษาในประเทศไทยและญี่ปุ่นในช่วงปี พ.ศ. 2536-2541 2. เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบแนวโน้มการวิจัยทางการศึกษาในประเทศไทยและญี่ปุ่นที่จะเกิดขึ้นในทศวรรษหน้า (ประมาณปี พ.ศ. 2550) การวิจัยนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงบรรยาย โดยการวิเคราะห์ ศึกษาจากเอกสาร จากการสำรวจโดยใช้แบบสอบถาม และจากการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยทางการศึกษาในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น การดำเนินการเก็บข้อมูลแบ่งเป็น 2 ช่วยคือ ช่วงแรกเก็บข้อมูลในปี พ.ศ. 2536-2537 และช่วงที่ 2 เก็บข้อมูลในปี พ.ศ. 2540-2541 จากนั้นจึงนำข้อมูลของทั้ง 2 ประเทศมาวิเคราะห์และเปรียบเทียบกัน กลุ่มตัวอย่างการวิจัยนี้ ได้แก่ ผู้บริหาร อาจารย์ นักการศึกษา และนักวิจัยในมหาวิทยาลัยและสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยทางการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนในประเทศไทยและญี่ปุ่น เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบสอบถาม และแบบสัมภาษณ์ฉบับภาษาไทยและฉบับภาษาญี่ปุ่น สรุปผลการวิจัย 1. ประเภทญี่ปุ่น มีหน่วยงานระดับชาติที่มีเอกภาพในการบริหารจัดการเกี่ยวกับการวิจัยทางการศึกษาโดยตรง ซึ่งไทยยังไม่มี ทำให้ประเทศญี่ปุ่นสามารถพัฒนางานวิจัยทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพ ได้สะดวกและมีประสิทธิภาพ ปริมาณงานวิจัยของญี่ปุ่นในช่วงปี พ.ศ. 2529-2533 มีมากกว่าของไทย 36-37 เท่า และลดลงเป็น 10-12 เท่า ในช่วงปี 2534-2539 ปริมาณงานวิจัยของไทยมีอัตราเพิ่มสูงมาก โดยในช่วงปี พ.ศ. 2529 สูงกว่าปี พ.ศ. 2529 ถึง 4 เท่า ในขณะที่ญี่ปุ่นมีอัตราการเพิ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากร้อยละ 2.4-23 แต่ทั้งนี้ งานวิจัยของญี่ปุ่นได้นับรวมงานที่เป็นการรวบรวมข้อมูลทางสถิติเอาไว้ด้วย และมหาวิทยาลัยและโรงเรียนในประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนมากกว่าไทยมาก จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นมีปริมาณงานวิจัยที่สูงกว่าไทย งานวิจัยของญี่ปุ่นมาจากภาคเอกชนมาก ในขณะที่งานวิจัยของไทยมาจากภาคเอกชนน้อยมาก ไทยทำวิจัยด้านการวัดและประเมินผลมาก ในขณะที่ญี่ปุ่นทำวิจัยทางนี้น้อยมาก นอกจากนั้นในทางกลับกัน ญี่ปุ่นทำวิจัยประวัติศาสตร์/พื้นฐานการศึกษา การศึกษานอกระบบโรงเรียน การศึกษาปฐมวัยและการศึกษาพิเศษ จำนวนมาก แต่ไทยทำวิจัยทางด้านดังกล่าวน้อย และไทยทำวิจัยในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษามากที่สุด แต่ญี่ปุ่นทำในระดับอุดมศึกษามากที่สุด ทั้งไทยและญี่ปุ่นทำวิจัยเชิงสำรวจมากที่สุด โดยญี่ปุ่นทำวิจัยเชิงวิเคราะห์ และประวัติศาสตร์ รองลงมาและทำวิจัยเชิงทดลองน้อยมาก ในขณะที่ไทยทำวิจัยเชิงทดลอง เป็นอันดับรองจากวิจัยเชิงสำรวจ นักวิจัยไทยและญี่ปุ่น ทำวิจัยโดยพิจารณาจากนโยบายและแผนการศึกษาชาติ ความต้องการของหน่วยงานความถนัดและความสนใจของผู้วิจัยและความต้องการของแหล่งทุน นักวิจัยไทยประสบปัญหาการมีเวลาทำวิจัยน้อย และขาดแรงจูงใจจากผู้บริหาร ส่วนนักวิจัยญี่ปุ่น มีปัญหาในเรื่องการเก็บข้อมูล และการขาดผู้ช่วยวิจัย แต่มีระดับปัญหาเกี่ยวกับงบประมาณ อุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก ระบบข้อมูลสารสนเทศและแหล่งค้นคว้าน้อยกว่านักวิจัยไทย ทั้งประเทศไทยและญี่ปุ่นยังขาดระบบการประเมินคุณภาพงานวิจัยที่เหมาะสม รวมทั้งการเผยแพร่ผลงานวิจัยและนำผลงานวิจัยไปใช้ ยังทำไม่ได้มากเท่าที่ควร 2. แนวโน้มการวิจัยในอนาคต ประมาณปี พ.ศ. 2550 ของไทยและญี่ปุ่น มีความคล้ายคลึงกันในด้านปริมาณงานวิจัยที่จะมีเพิ่มขึ้น โดยไทยจะมีอัตราการเพิ่มที่สูงกว่าของญี่ปุ่น และสัดส่วนระหว่างปริมาณงานวิจัยของไทยกับญี่ปุ่นจะลดลงจากปัจจุบัน ในอนาคตทั้งไทยและญี่ปุ่นจะเพิ่มงบประมาณการวิจัย ส่งเสริมการวิจัยขนาดใหญ่ การวิจัยสหวิทยาการและจะระดมทุนจากภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนการวิจัยมากขึ้น การส่งเสริมการวิจัยจะมีหลายรูปแบบขึ้น ปัญหาการทำวิจัยจะลดลง จะมีการสร้างเครือข่ายข้อมูลงานวิจัยทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ และเผยแพร่งานวิจัยผ่านระบบ internet และเครือข่ายข้อมูลอื่นๆ เพิ่มขึ้น ญี่ปุ่นจะมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิจัย ศูนย์ประสานงานนักวิจัยนานาชาติ และศูนย์วิจัยระดับท้องถิ่นขึ้น ในขณะที่ไทยจะมุ่งจัดทำระบบเครือข่ายข้อมูลการวิจัยระดับประเทศ จัดระบบการประกันคุณภาพงานวิจัย และส่งเสริมการวิจัยด้วยรูปแบบและวิธีใหม่ๆเพิ่มขึ้น